issuu
อนาไฟแลกซิสช็อก : ( Anaphylaxis shock )
อนาไฟแลกซิสช็อก คืออะไร
อนาไฟแลกซิสช็อก : ( Anaphylaxis shock ) หรือ อนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) คือ การช็อกจากการแพ้ชนิดที่รุนแรงที่สุด เป็นปฏิกิริยาของภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไปทั่วร่างกาย หากรักษาไม่ทันการอาจส่งผลต่อการล้มเหลวของระบบอวัยวะที่สำคัญ เช่น ระบบผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นอัตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ และถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่สำคัญและพบได้บ่อยอย่างหนึ่ง ที่มีโอกาสการเกิดขึ้นได้ประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราการตายประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น 100 คน จะมี 1 คน ที่เป็นแล้วมีโอกาสตายได้นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรง
สารที่ทำให้เกิดการแพ้หรือสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุบ่อยที่สุด คือ ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) แมลงสัตว์กัดต่อย และอาหาร เป็นต้น กระบวนการแพ้ที่เกิดขึ้นเกิดจากการ การตอบสนองของร่างกาย เมื่อได้รับสารหรือสิ่งใหม่เข้ามาในร่างกายซึ่งอาจเคยหรือไม่เคยได้รับมาก่อนก็ได้ หากร่างกายคิดว่าสิ่งนั้นคือสิ่งแปลกปลอมก็จะส่งผลไปกระตุ้นที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงาน ทำให้มีการหลั่งสารสื่อกลางในร่างกายบางอย่างที่ทำให้เกิดการแพ้เกิดขึ้น ส่งผลให้ร่างกายมีการตอบสนองและมีอาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้น คัน หลอดลมตีบ ทำให้หายใจไม่ออก เป็นต้น
เกณฑ์การวินิจฉัยในปัจจุบันพิจารณาจากอาการที่สงสัยว่าเกิดการแพ้แบบรุนแรงร่วมกับ มีประวัติแพ้สารก่อภูมิแพ้เป็นหลัก อย่างไรก็ตามสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีใครทราบล่วงหน้าได้เลยว่าตัวเองจะมีโอกาสแพ้หรือไม่ เพราะอาการแพ้ดังกล่าวมีโอกาสเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งเกิดจากการตอบสนองของร่างกายของแต่ละคนนั่นเอง
เกิดได้กับใครได้บ้าง ใครมีความเสี่ยงต่อการการเกิดอาการดังกล่าว
อาการแพ้รุนแรงนี้ โอกาสพบได้ไม่มากนัก แต่หากพบแล้วอาการรุนแรง ควรต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตามอาการต่อไป มักพบในคนที่มีประวัติเคยแพ้อะไรง่าย ๆ หรือกลุ่มคนที่มีภาวะไวต่อการกระตุ้นของสิ่งต่าง ๆ เช่น มีประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร คนที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ซึ่งร่างกายจะมีความจำเพาะหรือจดจำไว้ว่าหากเจอสารหรือสิ่งเดิมอีกมากระตุ้นหรือเข้ามาในร่างกาย จึงเกิดการตอบสนองออกมาทำให้เกิดการแพ้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน หากเกิดขึ้นแล้วได้รับการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้อัตราการรอดชีวิตค่อนข้างสูงขึ้นนั่นเอง
ฉะนั้นหากไม่อยากเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้ชนิดที่รุนแรง ผู้ที่มีประวัติการแพ้บางสิ่งบางอย่าง เช่น อาหาร หรือยา ก็ไม่ควรระบุชื่อยาหรือฝากคนอื่นซื้อยาใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร เช่น เอายาเดิมของคนอื่นมารับประทาน เอายาเพื่อนมารับประทาน ใช้ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวดลดการอักเสบพร่ำเพื่อโดยไม่จำเป็นด้วยตนเอง หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาหรืออยู่ภายใต้แพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
อาการแสดงที่เกิดขึ้นเมื่อมีอาการแพ้
อาการของการแพ้ชนิดนี้จะเกิดอาการทุกระบบโดยเฉพาะผิวหนัง ทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือด โดยสามารถเกิดอาการแพ้ขึ้นในเวลาเป็นนาทีหลังจากที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น แพ้อาหาร สามารถพบอาการบวม คันบริเวณปากและคอ อาจจะร่วมกับปวดท้อง ถ่ายเหลว หากแพ้พิษจากแมลงกัดต่อยสามารถพบอาการบวมและคันบริเวณที่ถูกกัดมีผื่นลมพิษลามทั่วตัว โดยอาจจะเริ่มที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ ผื่นจะลามทั้งตัวและคัน หนังตา รอบปาก หนังตาบวม ปากบวม รู้สึกเหมือนมีก้อนในคอเสียงแหบเนื่องจากกล่องเสียงและเส้นเสียงบวมได้ บางรายรุนแรงอาจจะพบหลอดลมตีบทำให้หายใจลำบาก กระสับกระส่าย ความดันโลหิตต่ำ หน้ามือ เป็นลม อ่อนเพลีย ชีพจรเร็ว บางรายอาจจะหมดสติภายในไม่กี่นาที
อาการอะไรบ้างที่ต้องรีบแจ้งแพทย์
- อาการทางระบบทางเดินหายใจและปอด เช่น หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดจากหลอดลมที่ตีบตัน
- อาการทางระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ความดันโลหิตลดลงหรือมีการล้มเหลวของระบบต่าง ๆ เช่น เป็นลม ปัสสาวะอุจจาระราด เป็นต้น
- มีอาการทางระบบผิวหนังหรือเยื่อบุ เช่น ผื่นลมพิษทั่ว ตัวคัน ผื่นแดง ปากลิ้นและเพดานอ่อนบวม
เป็นต้น
- ความดันโลหิตลดลงหลังจากการสัมผัสกับสารที่ผู้ป่วยทราบว่าแพ้มาก่อน (ภายในเวลาเป็นนาทีหรือหลายชั่วโมง)
วิธีการป้องกันทำอย่างไรได้บ้าง
- วิธีที่ดีที่สุดหากทราบว่าตัวเองมีประวัติการแพ้ จากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือรับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย สามารถประเมินอาการแพ้ของตนเองและใช้ยาเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันไม่ให้ตนเองเกิดปฏิกิริยาการแพ้ซ้ำ
- ผู้ที่เสี่ยงต่อการแพ้ชนิดรุนแรง เช่น เคยมีประวัติแพ้ยา ประวัติแพ้อาหาร โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งครอบครัวจะต้องมีแผนการรักษาเบื้องต้นไว้ เช่น มีการฝึกซ้อมเมื่อเกิดอาการจะทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ตนเอง สำหรับประเทศไทยให้ผู้ที่เกิดอาการรีบไปโรงพยาบาล หรือแจ้ง 1669 สายด่วนฉุกเฉินทางการแพทย์ เพื่อให้มาช่วยชีวิตเบื้องต้น (ต่างประเทศจะมียาช่วยชีวิตเป็นชุดสำหรับผู้ที่แพ้ง่าย)
- ผู้ป่วยและญาติจะต้องทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ตามที่กล่าวมา เพื่อการหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้เกิดการแพ้ที่รุนแรง และหากเกิดขึ้นควรปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น
- ผู้ป่วยและญาติต้องรู้ว่าหากแพ้ยาชนิดหนึ่ง ไม่ควรรับยาชนิดอื่นที่อาจจะแพ้ได้ เช่น หากแพ้ยาเพนนิซิลิน (penicillin) ก็ไม่ควรจะรับประทานยา คล็อกซาซิลิน (cloxacillin) หรือ ยาอะม็อกซี่ซิลิน (amoxillin) เป็นต้น ซึ่งหากมีประวัติดังกล่าวแพทย์หรือเภสัชกรจะเป็นผู้ออกบัตรแพ้ยาหรืออาหารไว้ให้เป็นบัตรประจำตัว ซึ่งบัตรนี้มีความสำคัญต้องแสดงให้เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขทราบทุกครั้ง เมื่อท่านไปรับการตรวจรักษาหรือบำบัดโรค
- หากจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบำบัดหรือรักษาโรค ควรอยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ไม่ควรหยิบจากยาผู้อื่น หรือยาเพื่อนบ้านมารับประทานเอง
หากแพ้ยาควรทำอย่างไร
หากมีอาการแพ้ยาควรกลับไปแจ้งอาการที่เป็นให้กับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับยานั้นมารับประทาน กรณีที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง เช่น ผื่นขึ้น คัน ตามตัว โดยไม่มีอาการหายใจติดขัด เจ้าหน้าที่นั้นจะได้ประเมินอาการแพ้ ให้ยาต้านการแพ้และออกบัตรแพ้ยาให้กับท่านเพื่อลดโอกาสการเกิดการแพ้ยาซ้ำนั่นเอง หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจติดขัด หายใจไม่ออก ผิวหนังลอกทั้งตัว ต้องรีบไปโรงพยาบาลพร้อมกับนำยาที่รับประทานไปโรงพยาบาลด้วย เพื่อการรักษาที่รวดเร็วและปลอดภัยต่อตัวผู้ที่แพ้เป็นต้น โดยทั่วไปหากมีการแพ้ยาเกิดขึ้นสิ่งที่ท่านควรจะได้รับคือ การรักษาตามอาการ รวมถึงแพทย์หรือเภสัชกรจะทำประวัติการแพ้ยาและออกบัตรประตัวสำหรับผู้ที่แพ้ยาเล็กไว้ให้ท่านติดตัว เมื่อครั้งต่อไปต้องไปรับการรักษาหรือบำบัดโรคที่ใดก็ตามจำเป็นต้องแสดงบัตรแพ้ยาที่ออกให้ทุกครั้ง เพื่อลดโอกาสการแพ้ยาซ้ำนั้นเอง
การมีความรู้เหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น ลดการเกิดภาวะภูมิแพ้แบบเฉียบพลันลงได้สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสารที่เราทราบอยู่แล้วว่าตนเองแพ้ จะทำให้ท่านปลอดภัยต่อความเสี่ยงของอาการดังกล่าวได้ ประกอบกับปัจจุบันมีการเข้าถึงร้านขายยาได้มากขึ้น ทำให้สามารถเลือกซื้อยามารับประทานเองได้ง่าย รวมถึงปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเสพติดข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เพราะมีข้อมูลการใช้ยาต่าง ๆ สำหรับการรักษาโรคอยู่ตามสื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นมีทั้งข้อมูลถูกต้องและไม่ถูกต้อง ส่งผลให้มีการสั่งซื้อยาหรืออาหารเสริมทางสื่อออนไลน์มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยและลดโอกาสที่ทำให้เกิดการแพ้ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่ควรสั่งซื้อยาหรืออาหารเสริมออนไลน์มาใช้เองเพราะเชื่อในการโฆษณา หรือการแนะนำชวนเชื่อต่าง ๆ เพราะผู้ขายมักจะนำเสนอแต่ข้อดีข้อเด่นของยาหรืออาหารเสริมที่ตนจะขายในแง่มุมเดียว ฉะนั้นหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
เรียบเรียงโดย
ภก.กุญชร เหรียญทอง
Reference
- Simons F.E., Ardusso L.R., Bilo M.B. International consensus on (ICON) anaphylaxis. World Allergy Organ J. 2014;7(1):9.
- Campbell R.L., Li J.T., Nicklas R.A. Emergency department diagnosis and treatment of anaphylaxis: a practice parameter. Ann Allergy Asthma Immunol. 2014;113(6):599–608.
- Lieberman P., Nicklas R.A., Randolph C. Anaphylaxis–a practice parameter update 2015. Ann Allergy Asthma Immunol. 2015;115(5):341–384.
- Lee S., Sadosty A.T., Campbell R.L. Update on biphasic anaphylaxis. Curr Opin Allergy Clin Immunol. 2016;16(4):346–351.
- Ring J., Klimek Ludger and Worm M. Adrenaline in the Acute Treatment of Anaphylaxis. PMID: 30149833 PMCID: PMC6131363 DOI: 10.3238/arztebl.2018.0528
- Sheikh A on behalf of the EAACI Food Allergy and Anaphylaxis Group. The epidemiology of anaphylaxis in Europe: a systematic review. Allergy. 2013;68:1353–1361.
- Worm M, Edenharter G, Rueff F, et al. Symptom profile and risk factors of anaphylaxis in Central Europe. Allergy. 2012;67:691–698.
เรียงเรียงโดย ภก.กุญชร เหรียญทอง
มีนาคม 2564