issuu
ใช้กัญชาอย่างไรให้ปลอดภัย
สารประกอบที่มีอยู่ในกัญชา
กัญชาคือพืชที่มีสารเคมีเป็นองค์ประกอบกว่า 400 ชนิด สารที่พบส่วนใหญ่คือสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งมีอยู่มากกว่า 60 ชนิด โดยสารที่นำไปใช้ในการรักษาคือ แคนนาบินอยด์ ที่พบหลัก 2 ชนิด คือ ทีเฮชซี (tetrahydrocannabinol: THC) และ ซีบีดี (cannabidiol: CBD) โดยสารทีเฮชซี มีมากที่สุดประมาณร้อยละ 5-15 และสารซีบีดี มีประมาณร้อยละ 0.1-0.5 ซึ่งในกัญชาแต่ละสายพันธุ์ จะมีอัตราส่วนของ ทีเฮชซี : ซีบีดี ที่แตกต่างกัน จึงทำให้การกำหนดปริมาณมาตรฐานเป็นไปได้ยาก
สารทีเฮชซี มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาทโดยการออกฤทธิ์ในสมอง ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความรู้สึกเจ็บปวด กระตุ้นความอยากอาหาร และสารซีบีดีมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และป้องกันระบบประสาท
สรรพคุณที่ระบุใช้กัญชาทางการแพทย์
วิทยาลัยแพทย์อเมริกันแนะนำให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษา ดังนี้
- กระตุ้นความอยากอาหารในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยเอดส์ (AIDS)
- ต้านอาการอาเจียนในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
- บรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- ใช้เพื่อลดความดันลูกตาในโรคต้อหิน
- ระงับอาการเกร็งในผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ผู้ที่มีเส้นเลือดตีบ เส้นประสาทไขสันหลังบาดเจ็บ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้กัญชาทางการแพทย์ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคโครห์น (Crohn's Disease) โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคลมชัก และโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง และกำลังศึกษาในการใช้เพื่อลดความวิตกกังวล ในการรักษาโรคภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (posttraumatic stress disorder: PTSD)
กระทรวงสาธารณสุขไทยกำหนดให้ใช้เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต (End of life) โดยในการใช้กัญชาเพื่อการรักษานี้ ต้องใช้สารทีเฮชซี ที่ผ่านการสังเคราะห์ให้บริสุทธิ์ และมีการกำหนดปริมาณในการใช้
ผลข้างเคียงจากการใช้กัญชา
ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ความดันโลหิตต่ำ ง่วงซึม สับสนมึนงง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ทักษะการเคลื่อนไหวลดลง ความจำลดลง เห็นภาพหลอน ในบางรายมีความวิตกกังวล หวาดระแวง เพิ่มขึ้น เป็นต้น
มีการศึกษาเชิงสังเกตของผลกระทบทางคลินิกภายหลังการได้รับสารกัญชาครั้งแรก (M. J. Noble et al.) เป็นการเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนของโรงพยาบาล จากการบันทึกการได้รับการรักษาด้วยกัญชารูปแบบต่าง ๆ เช่น “กัญชา” “ทีเฮทซี (THC)” “ดีเอบี (DAB)” “น้ำมันแฮชออยล์” “น้ำมันแฮชบิวเทน” หรือ “บีเฮทโอ (BHO)” ครั้งแรกจากโรงพยาบาล แล้วติดตามอาการผลข้างเคียงต่าง ๆ จากการโทรศัพท์กลับมาปรึกษาตลอดเวลา 24 ชม. ของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา โดยเก็บข้อมูลลงระบบคอมพิวเตอร์ เป็นระยะเวลา 8 เดือน แสดงให้เห็นผลข้างเคียงดังต่อไปนี้ มีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ สำหรับผู้ที่หยุดการใช้กัญชาทันทีในผู้ที่ใช้เป็นประจำ จากการรับโทรศัพท์ทั้งหมด 68,433 ราย พบทั้งหมด 383 ราย ที่พบอาการเข้าข่ายว่าคืออาการข้างเคียงจากการใช้กัญชา ติดตามต่อทั้งหมด 253 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับประทาน สารทีเฮชซี 15 มิลลิกรัม และมีการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในผู้ที่ได้รับผลิตภัณฑ์จากกัญชาดังกล่าวทั้งหมด 227 คน คิดเป็น 89.7% พบว่า ปัญหาหลักที่พบส่วนมากในแต่ละช่วงอายุคือ ผลต่อระบบประสาท โดยในเด็กพบว่ามีปัญหาในการกดระบบประสาท ในขณะที่วัยผู้ใหญ่พบปัญหาในการกระตุ้นระบบประสาท และในวัยรุ่นมีอุบัติการณ์ในการกดระบบประสาทและการกระตุ้นระบบประสาทเทียบเท่ากัน โดยประมาณ 1 ส่วน 3 ของผู้ใหญ่ พบว่ามีรายงานการเกิดความวิตกกังวล หวาดระแวง หรือตื่นตระหนก และประมาณ 1 ส่วน 5 ของผู้ใหญ่ มีรายงานอาการมึนงง เวียนศีรษะ บ้านหมุน
การศึกษาด้านพิษวิทยา (K.T. Fitzgerald et al.) พบว่าปริมาณขนาดของทีเฮชซี ขั้นต่ำที่ทำให้สุนัขเสียชีวิต คือ มากกว่า 3 กรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษ (antidote) ที่จำเพาะจาะจงสำหรับพิษจากสารทีเฮชซี ที่ได้จากกัญชาแต่มีแนวทางให้การรักษาเพื่อป้องกันการดูดซึมสาร และรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่พบนั่นเอง
อาการพิษเฉียบพลันจากการใช้กัญชาเกินขนาดและการแก้ไข
การใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่มีขนาดยาเริ่มต้นที่แน่นอน ขนาดยาที่เหมาะสมจะขึ้นกับโรคและลักษณะของผู้ป่วยแต่ละคนและปรับตามแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มต้นขนาดต่ำและปรับเพิ่มขนาดช้า ๆ จนได้ขนาดยาที่เหมาะสมให้ผลการรักษาสูงสุด และเกิดผลข้างเคียงต่ำสุด
อาการพิษเฉียบพลันจากการใช้กัญชาเกินขนาด
เวียนศีรษะ หน้ามืด
ปวดศีรษะ
หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
คลื่นไส้ อาเจียน
วิตกกังวล สับสน กระวนกระวาย
ประสาทหลอน
หายใจไม่สะดวก
อาการชา
เสียการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ
การแก้ไข
ในผู้ป่วยที่พบอาการพิษเฉียบพลัน ต้องหยุดใช้กัญชาทันที และรักษาแก้ไขตามอาการ โดยอาการที่สามารถแก้ไขเบื้องต้น มีดังนี้
- อาการเวียนศีรษะ หน้ามืด สามารถแก้ไขด้วยการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง
- อาการปวดศีรษะ ให้ทานยาแก้ปวด ตามความเหมาะสม
- อาการคลื่นไส้ อาเจียน แก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ก่อน และอาบน้ำอุ่น ทำให้เส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว สารทีเฮชซีเคลื่อนไปอยู่บริเวณผิวหนัง อาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ลดลง
- อาการวิตกกังวล สับสน กระวนกระวาย ให้ยากลุ่มคลายวิตกกังวล หรือนำตัวส่งโรงพยาบาลหากมีอาการมากขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ประสาทหลอน หายใจไม่สะดวก อาการชา แขนขาอ่อนแรง อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนที่รุนแรง ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม
ข้อห้ามใช้
ผู้ที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ได้แก่
- กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- มีประวัติแพ้สารสกัดกัญชา
- โรคหัวใจและหลอดเลือด/โรคตับ/โรคไตที่รุนแรง
- รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- โรคจิตเภท/โรคจิตจากสารเสพติด/โรคซึมเศร้า/โรคอารมณ์สองขั้ว
- มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเอง
ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่มีในปัจจุบัน
กำหนดเป็นตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่
- ยาสารสกัดกัญชา ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม / โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ใช้หยดใต้ลิ้น ในขนาดเริ่มต้น: 1-2 หยด และปรับเพิ่มขนาดช้า ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
มี 3 สูตร ดังนี้
- สูตร ทีเฮชซี : ซีบีดี 1:1 (ขนาด 5 มิลลิลิตร)
ใน 1 มิลลิลิตร ประกอบด้วย ทีเฮชซี 27 มิลลิกรัม และ ซีบีดี 25 มิลลิกรัม
ข้อบ่งใช้: ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) หรือใช้ตามแพทย์สั่ง
- สูตร ซีบีดี (ขนาด 10 มิลลิลิตร และ 30 มิลลิลิตร)
ใน 1 มิลลิลิตร ประกอบด้วย ซีบีดี 100 มิลลิกรัม
ข้อบ่งใช้: โรคลมชักที่รักษายาก โรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา (intractable epilepsy) หรือใช้ตามแพทย์สั่ง
- สูตร ทีเฮชซี (ขนาด 5 มิลลิลิตร)
ใน 1 หยดประกอบด้วยสาร ทีเฮชซี 0.5 มิลลิกรัม
ข้อบ่งใช้: ผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะปวดจากระบบประสาท (neuropathic pain)
หรือใช้ตามแพทย์สั่ง
- ตำรับยากัญชาแผนไทย ผลิตโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
- ยาศุขไสยาศน์ ประกอบด้วย ตัวยา 12 ชนิด รวมน้ำหนัก 78 ส่วน (มีกัญชา 12 ส่วน) ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร
- ยาทำลายพระสุเมรุ ประกอบด้วย ตัวยา 23 ชนิด รวมน้ำหนัก 1,338.75 กรัม (มีกัญชา 30 กรัม) แก้ลมจุกเสียด แก้ปวดกล้ามเนื้อ คลายกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งจากโรคลมอัมพฤกษ์ อัมพาต
- ยาแก้ลมแก้เส้น ประกอบด้วย ตัวยา 7 ชนิด รวมน้ำหนัก 75 ส่วน (มีกัญชา 20 ส่วน)
- แก้ลมในเส้น บรรเทาอาการมือเท้าชา อ่อนแรง
- ยาไฟอาวุธ ประกอบด้วย ตัวยา 32 ชนิด รวมน้ำหนัก 104 ส่วน (มีกัญชา 1 ส่วน) แก้ลมจุกเสียด ปวดมวนท้อง
- ยาอัมฤตย์โอสถ ประกอบด้วย ตัวยา 22 ชนิด รวมน้ำหนัก 76 ส่วน (มีกัญชา 10 ส่วน) แก้ผอมแห้งแรงน้อย มึนตึง มือเท้าอ่อนแรง
- ยาอไภยสาลี ประกอบด้วย ตัวยา 20 ชนิด รวมน้ำหนัก 757.50 กรัม (มีกัญชา 56.25 กรัม) แก้อาการจุกเสียดแน่น
- ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง ประกอบด้วย ตัวยา 3 ชนิด รวมน้ำหนัก 60 กรัม (มีกัญชา 30 กรัม) ทาแก้ริดสีดวงทวารหนัก ทาแก้โรคผิวหนัง (เช่น เรื้อนกวาง เรื้อนมูลนก)
และตำรับยาอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการผลิต 9 รายการ
- น้ำมันกัญชาตำรับหมอพื้นบ้าน ผลิตโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- น้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) สารสกัดกัญชาในน้ำมันมะพร้าว ความเข้มข้น 10% ของน้ำหนักกัญชาแห้ง
สรรพคุณ: ตามคำสั่งของแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน
ขนาดและวิธีใช้: รับประทานขนาด 1 หยด ทางปาก แล้วปรับ
ขนาดใช้ตามคำสั่งของแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน
การรับบริการกัญชาทางการแพทย์
สารสกัดกัญชาหรือยากัญชา ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป ต้องผ่านการวางแผนการรักษาจากแพทย์ นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การรักษาด้วยสารสกัดกัญชา จะต้องผ่านการอบรมก่อนจะจ่าย
- สถานพยาบาลที่ให้บริการ คือ โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) 12 แห่ง เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลลำปาง, โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก, โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, โรงพยาบาลสระบุรี, โรงพยาบาลราชบุรี, โรงพยาบาลระยอง, โรงพยาบาลขอนแก่น, โรงพยาบาลอุดรธานี, โรงพยาบาลบุรีรัมย์, โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี, โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา และ
- สถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่ง ได้แก่
- ภาคเหนือ: โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เด่นชัย จ.แพร่ และโรงพยาบาลหนองฉาง จ.อุทัยธานี
- ภาคกลาง: โรงพยาบาลดอนตูม จ.นครปฐม และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
จ.ปราจีนบุรี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์
- ภาคใต้: โรงพยาบาลท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
การใช้กัญชาในการทำอาหาร
การใช้กัญชาในการทำอาหาร มีผลต่อสภาพจิตใจและระบบประสาทสมองแตกต่างจากการได้รับทางการสูดดม เนื่องจากเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วผลของกัญชาไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการย่อยของกระเพาะอาหารก่อนถึงจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยรวมใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง แต่จะคงอยู่ได้นานกว่าการได้รับทางการสูดดม และจากการศึกษาพบว่าการรับประทานกัญชา เป็นอาหารมีความเข้มข้นของสารทีเฮชซี ในเลือดที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการได้รับทางการสูดดม เนื่องจากการสูดดมสารดังกล่าวจะผ่านสู่ปอดและเข้าสู่ระบบเลือดได้เลย เนื่องจากปอดมีหลอดเลือดอยู่ปริมาณมาก การรับประทานกัญชาจึงใช้เวลาทำให้ระดับสารทีเฮทซีในกระแสเลือดมีความเข้มข้นสูงสุด ประมาณ 60 ถึง 120 นาที นั่นเอง ประกอบกับการย่อยกัญชาในกระเพาะอาหารทำให้การดูดซึมขอทีเฮชซีลดลง เมื่อเทียบกับการได้รับจากการสูดดม ส่งผลให้สารดังกล่าวยิ่งมีปริมาณน้อยลง ซึ่งมีการศึกษาจำนวนมากที่ตรวจสอบการดูดซึมสารเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด
เนื่องจากกัญชาเป็นพืชที่ปลูกบนพื้นดิน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของสารอื่น ๆ ที่อยู่ใต้ดินหรือน้ำ หนึ่งในข้อกำหนดถึงปริมาณสารปนเปื้อนนั้นก็คือ โลหะหนักเพราะการได้รับโลหะหนักจากการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และยาเสริม ที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งอาจสะสมและส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูลการศึกษาในเรื่องนี้น้อยมาก สำหรับความเข้มข้นและการพบสารปนเปื้อนสารโลหะหนักในกัญชารูปแบบรับประทาน
จากการศึกษา พบว่า มีการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ทำให้มีความพร้อมใช้งานในหลายรูปแบบ เช่น สารสกัด น้ำมัน ยาง ของเหลวสำหรับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องทำไอระเหย รวมทั้งของรับประทาน เช่น บราวนี่ กัมมี่ คุกกี้ เป็นต้น และพบว่าผู้ที่ถูกส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากได้รับประทานสารทีเฮชซี 15 มิลลิกรัม
ปริมาณกัญชาที่ใช้ในการทำอาหาร
ข้อมูลแนะนำสำหรับการใช้กัญชาในชีวิตประจำวัน แนะนำให้ใช้กัญชาที่เป็นใบประกอบอาหารเท่านั้น ส่วนอื่น ๆ เช่น เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ถึงแม้ว่าจะถูกปลดจากการกฎหมายไม่เป็นสารเสพติดแล้วก็ตาม รวมทั้งน้ำมันกัญชายังไม่มีข้อมูลเพียงสำหรับนำมาประกอบอาหาร เนื่องจากการใช้กัญชาในอาหารเป็นสิ่งใหม่ผู้บริโภคบางคนอาจยังไม่คุ้นเคยควรเริ่มต้นการรับประทานแต่น้อย นอกจากนี้ผู้บริโภคบางกลุ่มเช่น เด็ก หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคหัวใจ เป็นต้น ควรระมัดระวังการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา ยิ่งถ้าเป็นการนำมาปรุงให้สุกจากการถูกความร้อนปริมาณสารน้ำมันกัญชาที่ออกมาอาจมีปริมาณมากขึ้นกว่าใบดิบ ๆ อย่างไรก็ตามยังเป็นสิ่งใหม่อาจต้องใช้เวลาและการเรียนรู้ต่อไปในการใช้กัญชาประกอบอาหาร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้หรือบริโภคได้อย่างปลอดภัย ณ ปัจจุบันจึงมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการบริโภคแล้วปลอดภัยดังต่อไปนี้
- ในการรับประทานปริมาณใบกัญชาในการปรุงอาหารอาจจะสุกหรือดิบก็ได้มากที่สุดไม่เกิน 5 ใบใน 1 จาน และใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคเกิน 5-8 ใบ
- ในผู้ที่ไม่เคยรับประทานกัญชามาก่อน ควรบริโภคในปริมาณน้อย เนื่องจากอาจเกิดอาการวิงเวียน มึนเมา ปวดศีรษะ หัวใจเต้นแรง หากมีอาการดังกล่าว ควรแก้ด้วยการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง
ข้อควรระวัง
- แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยอายุ 25 ปีขึ้นไป ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี
- หากใช้ในชีวิตประจำวัน แนะนำให้ใช้กัญชาที่เป็นใบประกอบอาหาร ส่วนน้ำมันกัญชายังไม่แนะนำ หากทานกัญชาและจำเป็นต้องขับรถควรเว้นระยะอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เนื่องจากอาจทำให้ง่วงนอนได้
เรียบเรียงโดย
เภสัชกรกุญชร เหรียญทอง
เอกสารอ้างอิง
- Capriotti T. Medical Marijuana. Home Healthc Now. 2016 Jan;34(1):10-5.
- ElSohly MA, Mehmedic Z, Foster S, Gon C, Chandra S, Church JC. Changes in Cannabis Potency Over the Last 2 Decades (1995-2014): Analysis of Current Data in the United States. Biol Psychiatry. 2016 Apr 1;79(7):613-9.
- Fitzgerald KT, Bronstein AC, Newquist KL. Marijuana poisoning. Top Companion Anim Med. 2013 Feb;28(1):8-12.
- กระทรวงสาธารณสุข. กัญชาทางการแพทย์ [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงเมื่อ 12 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก: https://medcannabis.go.th/
- กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. คำแนะนำ การใช้กัญชาทางการแพทย์ [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงเมื่อ 17 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก: http://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/PDF/manual/February_2020/Guidance-Updated-v-4_update-20200120-cover.pdf
- Noble MJ, Hedberg K, Hendrickson RG. Acute cannabis toxicity. Clin Toxicol (Phila). 2019 Aug;57(8):735-742.
- Dryburgh LM, Bolan NS, Grof CPL, Galettis P, Schneider J, Lucas CJ, Martin JH. Cannabis contaminants: sources, distribution, human toxicity and pharmacologic effects. Br J Clin Pharmacol. 2018 Nov;84(11):2468-2476.
- Salami SA, Martinelli F, Giovino A, Bachari A, Arad N, Mantri N. It Is Our Turn to Get Cannabis High: Put Cannabinoids in Food and Health Baskets. Molecules. 2020 Sep 4;25(18):4036.
- มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย. กินอย่างไร.. อาหารกัญชา [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงเมื่อ 13 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก: https://www.hfocus.org/content/2021/01/20905
- Kamkaen N, Treesak C. Medicinal Cannabis for Cancer. J Chulabhorn Royal Acad. 2019; 1(1): 16-29.
- โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร. อาหารจากกัญชา [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงเมื่อ 13 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก: https://drive.google.com/file/d/1IrCEMQTRXpMc6vwFOlw8byW0Pb7QUXpL/view
เรียบเรียงโดย
ภก.กุญชร เหรียญทอง
มีนาคม 2564