issuu
ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจล
ในปัจจุบันแอลกอฮอล์เจลดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้กันไปแล้ว คงน่าจะมีพกพาติดตัวกันแทบทุกคน
การทดสอบประสิทธิภาพของเจลล้างมือ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศวิธีทดสอบประสิทธิภาพและเกณฑ์การตัดสินผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่มีประสิทธิภาพ
วิธีทดสอบประสิทธิภาพของเจลล้างมือในการลดปริมาณเชื้อปนเปื้อนที่พัฒนาโดยสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อ้างอิงตามวิธีมาตรฐาน (BSEN 1276: 2009 Chemical disinfectants and antiseptics) ทำการทดสอบโดยให้ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือสัมผัสกับเชื้อ เป็นเวลา 1 นาที ที่อุณหภูมิ 34 องศาเซลเซียส ทดสอบกับเชื้อมาตรฐาน 4 ชนิด ได้แก่
- Staphylococcus aureus ATCC 6538
- Escherichia coli ATCC 10536
- Enterococcus hirae ATCC 10541
- Pseudomonas aeruginosa ATCC 15442
เกณฑ์การตัดสินผลการทดสอบตามวิธีข้างต้น ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือหลังสัมผัสกับเชื้อ เป็นเวลา 1 นาทีจะต้องลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียทั้ง 4 ชนิดได้มากกว่าหรือเท่ากับ 5 log หรือ 99.999% จึงจะถือว่ามีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงควรเลือกซื้อแอลกอฮอล์เจลจากร้านที่น่าเชื่อถือ ฉลากชัดเจน ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ ส่วนลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ควรซื้อ เช่น จับเป็นก้อน เกิดการแยกชั้น สีเปลี่ยน หรือทาแล้วไม่มีความเย็นก็เป็นสิ่งที่ช่วยสังเกตได้อีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากไม่มีการระเหยของแอลกอฮอล์จึงไม่รุ้สึกเย็น
ฉลากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์ที่มีจำหน่ายไม่ว่าจะเป็นรูปแบบน้ำ สเปรย์ หรือเจล ในปัจจุบันจัดเป็นเครื่องสำอาง จึงมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์แบบเดียวกับกับฉลากเครื่องสำอางซึ่งจะต้องระบุเลขที่ใบรับจดแจ้งเอาไว้ด้วย โดยจะต้องจัดทำฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน
ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์
- การทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ ควรบีบเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ลงในฝ่ามือ แล้วลูบให้ทั่วฝ่ามือหลังมือและนิ้วมือ ทิ้งไว้จนแอลกอฮอล์ระเหยแห้ง (20-30 วินาที) จึงจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ
- บริเวณผิวบอบบาง เช่น ใบหน้า รอบดวงตา บริเวณที่ผิวอักเสบหรือมีบาดแผล ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดังกล่าวได้
- การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ ควรเก็บไว้ในที่อุณหภูมิปกติ ไม่ควรเก็บในรถที่จอดตากแดด และภาชนะต้องปิดฝาให้สนิท เพื่อป้องกันแอลกอฮอล์ระเหย
- เนื่องจากแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติเป็นของเหลวไวไฟ จึงควรเก็บให้ห่างจากบริเวณที่อาจเกิดเปลวไฟ
สรุป
โดยสรุปหากต้องการเลือกผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ก็ควรเลือกจากความเข้มข้นที่แสดงไว้บนฉลาก โดยเลือกความเข้มข้นประมาณ 70% ส่วนจะเลือกรูปแบบน้ำหรือเจลก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้ เรื่องของสีและกลิ่นนั้นไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ จึงสามรถเลือกได้ตามความพึงพอใจ นอกจากนี้การอย่าลืมตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งให้เรียบร้อย ซึ่งเป็นข้อมูลเสริมเพื่อประกอบการตัดสินใจได้อีกทางหนึ่ง
หวังว่าอ่านมาถึงตอนนี้ก็คงจะหายสงสัยกันไปได้แล้ว ต่อไปก็อย่าลืมเอาไปปรับใช้และแนะนำคนใกล้ชิดกันได้นะคะ
เอกสารอ้างอิง
วิธีทดสอบประสิทธิภาพและเกณฑ์การตัดสินผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2562.
พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ. 2558, (2558, 8 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 32 ตอนที่ 86 ก
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือขาย พ.ศ. 2563. (2563, 9 มีนาคม) ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137 ตอนพิเศษ 54 ง.
WHO Guidelines on Hand Hygiene in Health Care: First Global Patient Safety Challenge Clean Care Is Safer Care. Geneva: World Health Organization; 2009. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK144013/
เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร. อาภา เพชรสัมฤทธิ์
สิงหาคม 2564