issuu
ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงระบาดหนักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แม้ว่าคุณจะมีมาตรการในการป้องกันตนเองอย่างยิ่งยวดด้วยการหมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น และการฉีดวัคซีนจนครบโดสแล้ว อย่างไรก็ตาม คุณก็ยังสามารถที่จะติดเชื้อได้อยู่ เพราะไม่มีวิธีการใดที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไดเ 100% หากเมื่อถึงเวลานั้น เมื่อคุณได้กลายเป็น “คนไข้โควิด 19” ที่กำลังอยู่ในกระบวนการการรักษา มันมีความสำคัญอย่างมากเช่นเดียวกันที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องของการดูแลตนเองเบื้องต้นในระหว่างที่ได้รับการรักษา คนไข้บางคนอาจได้รับการรักษาแบบ home isolation หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยจะมีการส่งยารักษามาให้จากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่ดูแลคุณอยู่ คนไข้บางคนที่เข้าเกณฑ์ อาจจะได้ยาฟาวิพิราเวียร์มารับประทานด้วย บางคนอาจไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นคนไข้อาการหนัก ดังนั้น ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงข้อควรรู้ที่สำคัญในการรับประทานยา “ฟาวิพิราเวียร์” อย่างถูกต้อง
ยาฟาวิพิราเวียร์ คือ ยาอะไร ?
ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) คือ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อโควิด 19 เป็นยาที่ถูกรับรองในประเทศญี่ปุ่น โดยก่อนหน้าที่ยานี้จะถูกนำมาใช้รักษาโควิดนั้น ยานี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง และโรคติดเชื้ออีโบลามาก่อน และต่อมา เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด 19 ขึ้น จึงมีการนำยานี้มาใช้รักษาอย่างแพร่หลาย
กลไกของยา
โดยปกติแล้ว การสร้างกรดไรโบนิวคลีอิก (ribonucleic acid: RNA) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของไวรัสนั้น จะต้องใช้วัตถุดิบเบสจากเบส 4 ตัวด้วยกัน อันได้แก่ ไซโตซีน (cytosine) ยูราซิล (uracil) อะดีนีน (adenine) และ กวานีน (guanine) เรียกเป็นตัวอักษรย่อๆ ว่า C U A และ G ตามลำดับ มาเรียงร้อยต่อกันเป็นลำดับเบสให้ให้ได้เป็นสารพันธุกรรมสายยาว โดยยาฟาวิพิราเวียร์ เปรียบเสมือน “กวานีนตัวปลอม” (guanine analog) เมื่อยาฟาวิพิราเวียร์ไปแทนที่เบสกวานีนตัวจริง ก็จะทำให้สารพันธุกรรมของไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นมาผิดเพี้ยนไป อันเป็นการยุติกระบวนการสร้างสารพันธุกรรมของไวรัสไปในที่สุด กล่าวสรุปในประโยคเดียว คือ ฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส SARS CoV2 นั่นเอง
ชื่อการค้า และรูปแบบยา
ยาฟาวิพิราเวียร์มีอยู่หลายยี่ห้อด้วยกัน ที่มีการใช้อยู่ในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น
- อะวีแกน (AVIGAN) เป็นยี่ห้อแรกจากญี่ปุ่น
- ฟาบิฟลู (FABIflu) เป็นยี่ห้อที่ผลิตในประเทศอินเดีย
- ฟาเวียร์ (FAVIR) เป็นยี่ห้อที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมของประเทศไทย
รูปแบบยาจะเป็นเม็ดยาแข็งเคลือบฟิล์ม (film-coated tablet) เม็ดละ 200 หรือ 400 มิลลิกรัม แล้วแต่ยี่ห้อ สามารถหัก บด แบ่งเม็ดยาได้ โดยยานี้มีแค่รูปแบบรับประทานแบบเม็ดแข็งเคลือบฟิล์มเท่านั้น ไม่มีรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ข้อบ่งใช้
แต่เดิมนั้น ข้อบ่งใช้ของยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทย จะเริ่มพิจารณาให้ใช้ในผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีอาการรุนแรง แต่ในปัจจุบันตามคำแนะนำของกรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุงล่าสุดของวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ระบุว่า ให้เริ่มพิจารณาใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ตั้งแต่กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ โดยให้เริ่มยาโดยเร็วที่สุด แต่หากคนไข้นั้นตรวจพบเชื้อมาเกิน 7 วันแล้ว และยังคงไม่มีอาการ (หรือมีอาการน้อย) อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะคนไข้กลุ่มนี้น่าจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หมายถึง ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ อายุ >60 ปี, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ, โรคไตเรื้อรัง (CKD), โรคหัวใจและหลอดเลือดรวมโรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้, ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.), ตับแข็ง, มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ, และมีค่าเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม. หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น
วิธีการรับประทานยา
- ขนาดยาในผู้ใหญ่: [200 มก./เม็ด] วันที่ 1 รับประทาน 1,800 มก. (9 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง ส่วนในวันถัด ๆ ไปรับประทาน 800 มก. (4 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง
- ถ้าผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัมจะต้องเพิ่มขนาดยา โดยวันที่ 1 รับประทาน 2,400 มก. (12 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง ส่วนในวันถัด ๆ ไปรับประทาน 1,000 มก. (5 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง
- ขนาดยาในเด็ก: วันที่ 1 รับประทาน 60 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง ส่วนในวันถัด ๆ ไปรับประทาน 30 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง
- ระยะเวลาที่รับประทานยาจะอยู่ในช่วง 5-10 วัน แล้วแต่แพทย์พิจารณาสั่งใช้ในคนไข้แต่ละราย
- ควรรับประทานยานี้ห่างกันอย่างน้อย 12 ชม. และรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรับประทานหลังอาหารเนื่องจากยาไม่ได้มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์
- โรคประจำตัวของท่าน
- ยา หรืออาหารเสริมที่ท่านรับประทานอยู่เป็นประจำ
- ประวัติแพ้ยา หรือแพ้อาหาร
ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยาหรือใช้ยา
หากลืมรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ภายใน 6 ชม. ให้รับประทานยาในทันที แต่ถ้าหากลืมเกิน 6 ชม. ให้ข้ามยามื้อนั้นแล้วไปรับประทานมื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าในมือถัดไป
อาการไม่พึงประสงค์ทั่วไปอาการไม่พึงประสงค์อื่นที่อาจเกิดระหว่างใช้ยา
หากเป็นต่อเนื่อง หรือ รบกวนชีวิตประจำวัน ให้ แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น ซึ่งถ้าคนไข้อาเจียนออกมาเป็นเม็ดยาหลังรับประทานยา ให้รับรับทานยาในครั้งนั้นใหม่
อาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที
เป็นอาการที่อาจเกิดจากการแพ้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ จึงต้องรีบแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที ได้แก่ มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก หายใจติดขัด อาการเหล่านี้มักจะเริ่มมีหลังรับประทานยาไปไม่นาน
ส่วนอีกอาการนึงที่ต้องเฝ้าระวังคือ อาการตับอักเสบ โดยมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องซี่โครงด้านขวา อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที คนไข้จึงต้องคอยหมั่นสังเกตตนเอง
การเก็บรักษายา
เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ห้ามแช่ตู้เย็น
ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์
- อาจต้องระวังการใช้ยาในคนไข้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรอยู่ เพราะยาถูกขับออกทางน้ำนม
- ในผู้ที่กำลังวางแผนจะมีบุตร ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 7 วันหลังรับประทานยาเม็ดสุดท้าย เนื่องจากยาถูกขับออกทางสเปิร์มในผู้ชาย
- ตามกฎหมายในประเทศไทย จัดเป็นยา “ควบคุมพิเศษ” ซึ่งจะมีขายแค่ในสถานพยาบาล/โรงพยาบาล เท่านั้น ยังไม่มีขายตามร้านขายยา ดังนั้น
- ไม่ควรนำยาของคนไข้มารับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ อีกทั้งคนไข้ก็ไม่ควรแบ่งยาให้คนอื่นรับประทานด้วยเช่นกัน เน้นย้ำว่าคนไข้จะต้องรับประทานยาให้ครบคอร์สการรักษาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้หายจากโรค
- สำหรับผู้ที่รับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ ร่วมกับยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาลดไข้ ควรรับประทานยาพาราเซตามอลไม่เกิน 3,000 มก./วัน (จากเดิมที่พาราเซตามอลควรรับประทานไม่เกิน 4,000 มก./วัน หรือ 60 มก./กก./วัน) เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์มีผลเพิ่มขนาดยาพาราเซตอลในเลือดได้ประมาณร้อยละ 15 หากรับประทานยาพาราเซมอลจนถึงขนาดสูงสุดที่แนะนำแล้วไข้ยังไม่ลง และอาการยังไม่ดีขึ้น ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบต่อไป ไม่ควรเพิ่มขนาดยาเอง
- ไม่ควรรับประทานยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากอาจส่งเสริมให้เกิดผลข้างเคียงต่อตับได้
- ควรระวังการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือน เนื่องจากในกลุ่มประชากรดังกล่าว มีการพัฒนาของเอนไซม์ aldehyde oxidase ในร่างกายที่ใช้ในการเมตาบอไลต์ยายังไม่สมบูรณ์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยา ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ บุคลากรทางการแพทย์จะพูดคุยถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและประโยชน์ที่จะได้รับกับผู้ปกครอง
- สำหรับผู้ที่รับประทานยาเม็ดไม่ได้ เช่น ผู้ที่ได้รับอาหารทางสายยาง หรือผู้ป่วยเด็ก สามารถบด หักแบ่ง เม็ดยา ผสมกับน้ำหวานหรือของเหลวรับประทานได้
เอกสารอ้างอิง
- Sanders JM, Monogue ML, Jodlowski TZ, Cutrell JB. Pharmacologic Treatments for Coronavirus Disease 2019 (COVID-19): A Review. Jama. 2020.
- Shiraki K, Daikoku T. Favipiravir, an anti-influenza drug against life-threatening RNA virus infections. Pharmacol Ther.2020 Feb 22:107512.
- AVIGAN® (favipiravir) 200 mg [prescribing information]. Tokyo, Japan: Toyama Chemical Co Ltd; January 2017.
- กรมการแพทย์. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 [Internet]. 2021 [cited 2021 Jul 21]. Available from: https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_FIle/Bandner_(Big)/Attach/25640728194031PM_25640721115923AM_CPG_COVID_v.16.4.n.pdf
- Venisse N. Potential drug-drug interactions associated with drugs currently proposed for COVID-19 treatment in patients receiving other treatments. Fundam Clin Pharmacol. 2020 Oct;34(5):528-529. doi: 10.1111/fcp.12588. Epub 2020 Jul 17. PMID: 32615022; PMCID: PMC7361314.
- Bouazza N, Treluyer JM, Foissac F, Mentré F, Taburet AM, Guedj J, Anglaret X, de Lamballerie X, Keïta S, Malvy D, Frange P. Favipiravir for children with Ebola. Lancet. 2015 Feb 14;385(9968):603-604. doi: 10.1016/S0140-6736(15)60232-X. PMID: 25706078.
ภญ.อ.เบญจพร วีระพล
12 สิงหาคม 2564