issuu
แอลกอฮอล์สีฟ้าผสมน้ำ ฆ่าเชื้อได้จริงเหรอ ???
โดยทั่วไปในชีวิตประจำวันของเราสามารถพบเจอเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอยู่ทั้งในอากาศ น้ำ หรือสิ่งของทั่วไป และในสถานการณ์ปัจจุบันจึงควรระมัดระวังเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของทุกท่านเอง
ทุกท่านเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อได้อย่างไร ต้องเอามาผสมน้ำก่อนใช้หรือไม่ แล้วสุราเอามาใช้ฆ่าเชื้อได้รึเปล่านะ
ก่อนอื่นเรามารู้จักก่อนว่าแอลกอฮอล์ทำหน้าที่เหมือนเป็นทหารคอยช่วยต่อสู้ทำลายเชื้อแบคทีเรียและไวรัส หากเชื้อเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้เกิดโรคได้
แอลกอฮอล์และการออกฤทธิ์
แอลกอฮอล์หรือเอทิลแอลกอฮอล์ เป็นสารชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส โดยสามารถฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้ ด้วยการทำลายไขมันที่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้เซลล์แตก สารน้ำที่อยู่ภายในถูกขับออก และยังสามารถตกตะกอนโปรตีนทำให้เซลล์เสียสภาพไม่สามารถทำงานได้อีกด้วย ดังนั้นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อรา และไวรัสบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อที่มีโครงสร้างไขมันหุ้มอยู่จะถูกทำลายบริเวณโครงสร้างไขมันด้วยแอลกอฮอล์นั่นเอง
การออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะลดลงเมื่อแอลกอฮอล์เจือจาง ซึ่งความเข้มข้นปกติที่นิยมใช้กันจะอยู่ในช่วง 60-90% เนื่องจากหากความเข้มข้นสูงกว่านี้จะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดูดซึมเข้าสู่เซลล์ได้และระเหยอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ
แอลกอฮอล์มีกี่ความเข้มข้นกันบ้างนะ
โดยทั่วไปแล้วแอลกอฮอล์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันจะมีอยู่ 2 ความเข้มข้น ได้แก่
1. แอลกอฮอล์ที่มีขายกันทั่วไปหรือที่ขายกันอยู่ในร้านขายยานั้นเป็นแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% โดยปริมาตร คือ มีแอลกอฮอล์ 70 มิลลิลิตรและน้ำ 30 มิลลิลิตรผสมกันอยู่
2. แอลกอฮอล์ 95-99% เป็นแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูงที่มีจำหน่ายตามบริษัทเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ โดยทั่วไปจะเป็นการเอามาใช้ในอุตสาหกรรม หรือใช้ในการศึกษาวิจัย ซึ่งการนำมาใช้ก็จะมีการคำนวณตามความเข้มข้นที่ต้องการใช้ต่อไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น ใช้เป็นตัวทำละลายในการวิเคราะห์หาปริมาณสารด้วยเครื่องเครื่องโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (High Performance Liquid Chromatography; HPLC) ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น
แอลกอฮอล์ต้องผสมน้ำก่อนใช้รึเปล่านะ
หากพิจารณากันที่ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์จะเห็นได้ว่าแอลกอฮอล์มีความเข้มข้น 70% โดยปริมาตรซึ่งสามารถฆ่าเชื้อได้แล้ว หากนำมาผสมน้ำเพิ่มอีกจะทำให้ความเข้มข้นลดลง ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อลดลงและอาจจะ ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ดังนั้นจึงเป็นข้อสรุปว่าแอลกอฮอล์สีฟ้าที่มีขายตามร้านขายยานั้นสามารถใช้เช็ดทำความสะอาดบริเวณแผลหรือฉีดพ่นฆ่าเชื้อได้ทันทีโดยไม่ต้องผสมน้ำก่อนใช้
สุราใช้ฆ่าเชื้อแทนแอลกอฮอล์เลยได้ไหมนะ
เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีหลายประเภท เช่น สุรา เบียร์ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ที่ผสมในเครื่องดื่มต่าง ๆ นั้นแตกต่างกันไป ดังแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ผสมในเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ
ชนิดเครื่องดื่ม | ปริมาณแอลกอฮอล์ (ร้อยละโดยปริมาตร) |
เบียร์ | 10-15 |
ไวน์ | 15-20 |
บรั่นดี | 45-60 |
วิสกี้ | 45-60 |
วอดก้า (vodka) | 40-50 |
ยิน (Gin) | 40-48.5 |
จะเห็นได้ว่ามีปริมาณของแอลกอฮอล์ไม่เกิน 60% โดยปริมาตร ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อน้อยหรือไม่มีประสิทธิภาพ จึงไม่ควรนำมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อ อีกทั้งยังมีราคาแพงเมื่อเทียบกับแอลกอฮอล์ที่มีขายทั่วไป และหากจะใช้การดื่มเพื่อฆ่าเชื้อภายในร่างกายนั้นเกรงว่าจะได้ผลเสียมากกว่าผลดีเป็นแน่
หวังว่าอ่านมาถึงตอนนี้แล้วก็คงจะหายสงสัยกันแล้ว ต่อไปก็อย่าลืมเอาไปปรับใช้และแนะนำคนใกล้ชิดกันได้นะคะ
ผู้เรียบเรียง
ภญ.อ.ดร.อาภา เพชรสัมฤทธิ์
16 มีนาคม 2564
เอกสารอ้างอิง
องค์การสุรา กรมสรรพาสามิต. (2560). สถิติข้อมูลเกี่ยวกับแอลกอฮอล์. สื%B