issuu
เริ่มล้างจมูกได้ตั้งแต่อายุเท่าไร
การล้างจมูก คือการใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสำหรับใช้ล้างจมูก หยด พ่น สวนล้างเข้าทางรูจมูก เพื่อช่วยชำระล้างน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งในรูโพรงจมูกออกมา ฉะนั้นอายุที่เริ่มใช้น้ำเกลือล้างจมูกได้ เริ่มตั้งแต่วัยทารกเป็นต้นไป
คุณพ่อคุณแม่มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการล้างจมูก วันนี้เรามีคำตอบให้ค่ะ
- เมื่อใดควรเริ่มล้างจมูกได้ น้ำมูกเล็กน้อยล้างได้หรือไม่ และสามารถล้างจมูกได้บ่อยแค่ไหน
การล้างจมูกสามารถเริ่มล้างได้หากรู้สึกว่าเด็กมีน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งอุดตันที่รูจมูก ส่งผลให้เด็กหายใจลำบากหรือหายใจได้ยากขึ้น หากมีน้ำมูกเล็กน้อยไม่ส่งผลต่อการหายใจของเด็ก อาจยังไม่ต้องล้างจมูกเพียงแค่เช็ดน้ำมูกหรือใช้ลูกยางดูออกก็ได้
ควรล้างจมูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงเวลาตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน หรือเมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกมาก แน่นจมูก หรือก่อนใช้ยาพ่นจมูก หรือยาหยอดจมูก แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อป้องกันการอาเจียนหรือการสำลัก
- ความปลอดภัย และสิ่งที่ต้องระวัง
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างจมูกนั้นสามารถทำได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายหรือโทษต่อจมูกหรือร่างกาย หากล้างจมูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในผู้ป่วยโรคหวัด ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีที่ต้องการป้องกันการเกิดอาการภูมิแพ้โพรงจมูกหรือไซนัสอักเสบในอนาคต การล้างจมูกด้วยขั้นตอนที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญมาก
ข้อควรระวัง :
- ระหว่างการดันหรือฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก จำเป็นต้องกลั้นหายใจไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้หายใจเอาน้ำเกลือลงไปยังกล่องเสียงและหลอดลม เพราะจะทำให้เกิดการสำลักได้
- การล้างจมูกสามารถทำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ไม่ควรนำให้มีการสวนล้างแบบฉีดหรือดันน้ำเกลือเข้ารูจมูกกับทารกที่อายุยังน้อย และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่าจะปลอดภัยหรือสามารถบรรเทาอาการที่เป็นได้หรือไม่ หากทำแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม แนะนำให้กลับไปสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะหรือมีเลือดกำเดาไหลตามมาหลังจากล้างจมูก
- สำหรับผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อบริเวณหูหรือโพรงจมูกที่มีอาการแน่นจมูกและหายใจลำบากนั้น ไม่แนะนำให้ใช้วิธีการล้างจมูก เนื่องจากต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอย่างมาก ไม่เช่นนั้นจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นผู้มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานไม่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้วิธีล้างจมูก
- เด็กกลัวควรทำอย่างไร
- ใช้ผ้าห่อตัวเด็กในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือและดิ้นมาก การห่อตัวเด็กจะช่วยให้ผู้ล้างจมูกสามารถล้างจมูกได้สะดวก นุ่มนวลและไม่เกิดการบาดเจ็บ
- เลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับเด็ก เช่น ขวดบีบที่เป็นรูปการ์ตูน
- เปิดวิดีโอเด็กล้างจมูกให้ดูเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ
- การทำความสะอาดอุปกรณ์ ลวกน้ำร้อนได้หรือไม่
- เราสามารถต้มหรือลวกอุปกรณ์ทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนได้เฉพาะภาชนะที่ทนความร้อนได้เท่านั้น เช่น ลูกยางแดงหรือลูกยางซิลิโคน โดยการล้างลูกยางแดงด้วยน้ำสบู่ทั้งภายนอกและภายใน และล้างตามด้วยน้ำประปาจนสะอาด และควรนำไปต้มในน้ำเดือดวันละครั้ง โดยดูดน้ำเดือดเข้ามาในลูกยางแดง ต้มประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วบีบน้ำที่ค้างในลูกยางออกจนหมด วางคว่ำในภาชนะที่สะอาด โดยคว่ำปลายลูกยางแดงลง
- ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น กระบอกฉีดยา จุกล้างจมูก ไม่ควรลวกหรือต้มเนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ออกแบบมาเพื่อใช้เพียง 1 ครั้ง แต่หากใช้มากกว่า 1 ครั้ง ก็ทำความสะอาดอุปกรณ์ล้างจมูก เพียงแค่ทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโตและเพิ่มปริมาณ โดยการล้างกระบอกฉีดยาและภาชนะที่ใส่น้ำเกลือด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง
- การเลือกน้ำเกลือ และรูปแบบของอุปกรณ์ล้างจมูกมีวิธีการเลือกอย่างไร
- น้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูกควรมีความเข้มข้น 0.9 เปอร์เซ็นต์ (0.9% normal saline solution)
- ซึ่งหาซื้อได้จาก โรงพยาบาลหรือร้านขายยา แนะนำให้ใช้น้ำเกลือขวดละ 100 ซีซี กรณีใช้กับเด็ก
- เด็ก 0-6 เดือนแนะนำใช้อุปกรณ์ที่ใช้หยดน้ำเกลือเข้ารูจมูก แล้วใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออก ไม่แนะนำใช้กระบอกฉีดยาหรืออุปกรณ์ขวดบีบล้างจมูกแบบสำเร็จรูปดันหรือฉีดพ่นเข้าจมูกโดยตรง เพราะแรงดันจะมากเกินไปอาจทำให้เยื่อจมูกมีการอักเสบได้
- เด็ก 6 เดือนขึ้นไป สามารถใช้กระบอกฉีดยา อุปกรณ์ขวดบีบล้างจมูกสำเร็จรูป สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกได้ โดยใช้ปริมาณน้ำเกลือตามคำแนะนำข้างต้นในแต่ละช่วงอายุ เพื่อลดอาการบาดเจ็บหรือการระคายเคืองเยื่อบุภายในโพรงจมูก เป็นต้น
- ลูกยางแดงหรือลูกยางซิลิโคน แนะนำให้เลือกใช้ดังนี้ ลูกยางแดงเบอร์ 0 – 2 สำหรับเด็กขวบปีแรก ลูกยางแดงเบอร์ 2 – 4 สำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี
- เก็บน้ำเกลืออย่างไรหลังเปิดใช้และเก็บได้นานแค่ไหน
- น้ำเกลือที่ใช้แล้วเหลือ ควรเททิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเทกลับเข้าขวดน้ำเกลือเดิม
- ส่วนขวดที่เปิดฝาแล้วควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ได้ 30 วันหลังจากนั้นให้ทิ้ง เนื่องจากเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อก่อให้เกิดโรค
- ยี่ห้อน้ำเกลือ มีผลต่อคุณภาพหรือไม่
ยี่ห้อของน้ำเกลือไม่มีผลต่อประสิทธิภาพในการล้างจมูก หากมีเปอร์เซ็นต์ของเกลือตามที่ระบุไว้ข้างต้น แต่ยี่ห้อของน้ำเกลือล้างจมูกแต่ละยีห้ออาจจะมีรูปแบบลูกเล่นที่แตกต่างกันในแง่การใช้เพื่อความสะดวกหรือง่ายต่อการนำไปใช้ เช่น บางยี่ห้อผลิตมาให้พร้อมปลายแหลมสำหรับใช้บีบล้างได้ในตัวโดยไม่ต้องใช้กระบอกฉีดยาหรือขวดบีบสำหรับล้างจมูก หรือบางยี่ห้อทำมาเป็นอุปกรณ์น่ารัก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจูงใจให้เด็กอยากล้างจมูก เป็นต้น
- ใช้น้ำเปล่าล้างจมูกได้หรือไม่
น้ำเปล่าไม่สามารถใช้ล้างเข้าไปในรูจมูกได้ เนื่องจากความเข้มข้นของน้ำเปล่าไม่เหมาะสมกับสภาพเนื้อเยื่อของเซลล์ผนังภายในรูจมูก อาจทำให้เกิดการสำลักแสบจมูกหรือมีอาการระคายเคืองในรูจมูกได้ ฉะนั้นน้ำที่ใช้ล้างจมูกคือน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นที่ระบุไว้ว่า โซเดียมคลอไรด์ 0.9 เปอร์เซ็นต์ ( Sodium chloride 0.9% ) เท่านั้น
เรียบเรียงโดย
เภสัชกรกุญชร เหรียญทอง
10 กันยายน 2563
Reference
- Piromchai P., Puvatanond C., Kirtsreesakul V., Chaiyasate S. and Thanaviratananich S. Effectiveness of nasal irrigation devices: a Thai multicentre survey. PeerJ. 2019; 7: e7000.
- Principi N. and Esposito S. Nasal Irrigation: An Imprecisely Defined Medical Procedure. Int J Environ Res Public Health. 2017 May; 14(5): 516.
- CHIRICO G., QUARTARONE G. and MALLEFET P. Nasal congestion in infants and children:a Literature review on efficacy and safety of non-pharmacological treatments. Minerva Pediatr 2014;66:549-57.
- Ratanarat TH., Yupin P. and Nucharee C. Effects of the Perceived Self-Efficacy Promotion Program on Maternal Confidence to Perform Nasal Irrigation for Childern with Retained Nasal Secretion. Vol. 22 No. 2 (2014).