issuu
การล้างจมูกในเด็ก
- เริ่มล้างจมูกได้ตั้งแต่อายุเท่าไร
การล้างจมูก คือการใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสำหรับใช้ล้างจมูก หยด พ่น สวนล้างเข้าทางรูจมูก เพื่อช่วยชำระล้างน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งในรูโพรงจมูกออกมา ฉะนั้นอายุที่เริ่มใช้น้ำเกลือล้างจมูกได้ เริ่มตั้งแต่วัยทารกเป็นต้นไป
- แต่ละช่วงอายุ มีวิธีล้างต่างกันอย่างไร
- สำหรับเด็กอายุ 1-6 เดือน
หากมีความจำเป็นต้องล้างจมูก
วิธีการล้างจมูกคือ จัดเด็กนอนหงายหนุนศีรษะให้สูงพอควรเพื่อป้องกันการสำลัก จับหน้าให้นิ่ง ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือครั้งละ 2 –3 หยด เข้าไปในรูจมูก แล้วใช้ลูกยางแดงหรือลูกยางซิลิโคนนิ่มดูดน้ำมูกในรูจมูกออก โดยการบีบลูกยางแดงให้แบนจนสุดเพื่อไล่ลมออก แล้วค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกลึกประมาณ 1–1.5 ซม. โดยพยายามอย่าให้ปลายลูกยางสัมผัสกับผิวหนังภายในจมูก เพื่อลดการระคายเคืองจากแรงลมที่ใช้ดูดน้ำมูก ค่อย ๆ ปล่อยมือที่บีบออกช้า ๆ เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในลูกยาง บีบน้ำมูกในลูกยางทิ้งในกระดาษทิชชู
- ขวบปีแรก อายุ 6 เดือนถึง 1ปี
ควรใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 1 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม) หรือขวดยาหยอดตา จัดท่านอนหงายหนุนศีรษะสูงพอควรเพื่อป้องกันการสำลัก ค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่มีน้ำมูกทีละข้าง โดยให้วางปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านบนของรูจมูก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ ครึ่ง (0.5) ซีซี ไม่ชี้ปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปโดยตรงเข้ารูจมูกด้านใน ใช้ลูกยางสำหรับดูดน้ำมูกและเสมหะสำหรับเด็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้ (ลูกยางแดงเบอร์ 0 – 2 สำหรับเด็กขวบปีแรก) หรืออาจใช้น้ำเกลือในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูกซึ่งมีจำหน่ายหลายยี่ห้อแต่ละยี่ห้อจะมีช่วงอายุที่ใช้บอกไว้ พ่นน้ำเกลือเข้าไปในจมูกเด็ก แทนการหยดหรือฉีดน้ำเกลือดังกล่าวข้างต้นได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
หลักการใช้คือ สอดปลายขวดน้ำเกลือแบบสเปรย์เข้าไปในรูจมูกหันปลายชี้ขึ้นที่ผนังรูจมูกด้านบนหรือด้านข้าง แล้วกดพ่นเป็นจังหวะทิ้งระยะให้เด็กได้หายใจ หลังจากนั้นใช้ลูกยางดูดน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งออกหากเด็กยังไม่สามารถสั่งน้ำมูกออกเองได้
- เด็กอายุ 1 – 5 ปี
ควรใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 1 - 5 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม) หรือใช้อุปกรณ์สำเร็จที่เป็นขวดบีบสำหรับล้างจมูกแทนก็ได้ (ลูกยางแดงเบอร์ 2 – 4 สำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี )
จัดท่าทางในการล้างจมูกได้ดังนี้
- นอนหงายหนุนศีรษะให้สูงพอควรเพื่อป้องกันการสำลัก ถ้าเด็กสามารถทำตามคำสั่งได้ให้สั่งน้ำมูกออกมาก่อน หลังจากนั้นสอดปลายกระบอกฉีดยาให้ปลายหันเข้าไปในรูจมูกชี้ปลายกระบอกขึ้นผนังด้านบนหรือด้านข้างรูจมูก ดันหรือฉีดน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูกเป็นจังหวะ เว้นระยะให้เด็กได้หายใจก่อนดันน้ำเกลือเข้าไปใหม่ ทำสลับทั้งสองข้างจนรูสึกว่าไม่มีน้ำมูก หรือสารคัดหลั่งออกมาแล้ว หากเด็กยังไม่สามารถทำตามคำสั่งได้นั้น ผู้ล้างก็สามารถล้างจมูกได้เลยโดยเว้นระยะการดันน้ำเกลือ ให้เว้นเป็นช่วงจังหวะเด็กได้หายใจ หรืออาจใช้ลูกยางดูดน้ำมูกกับสารคัดหลั่งร่วมด้วยก็ได้ หรือวิธีที่ 2 ดังด้านล่าง
- ให้เด็กนั่งหรือยืนแหงนหน้าเล็กน้อย หากเด็กสามารถทำตามคำสั่งได้ให้อ้าปาก ออกเสียง อา ให้สั่งน้ำมูกออกให้หมดเท่าที่ทำได้ก่อนการล้างจมูก หลังจากนั้นเริ่มทำการล้างจมูก สอดปลายกระบอกฉีดยาให้ปลายหันเข้าไปในรูจมูกชี้ปลายกระบอกขึ้นผนังด้านบนหรือข้างรูจมูก ค่อยๆดันหรือฉีดน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูกเป็นจังหวะ เว้นระยะให้เด็กได้หายใจก่อนดันน้ำเกลือเข้าไปใหม่ ทำสลับทั้งสองข้างจนรูสึกว่าไม่มีน้ำมูก หรือสารคัดหลั่งออกมาแล้ว หากเด็กยังไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ ผู้ล้างก็สามารถล้างจมูกได้เลย โดยเว้นระยะการดันหรือฉีดน้ำเกลือให้เว้นเป็นช่วงจังหวะเด็กได้หายใจ พร้อมกับสั่งให้เด็กกลืนน้ำเกลือที่ไหลลงคอเป็นระยะ ๆ ระหว่างฉีดน้ำเกลือ หรือให้บ้วนทิ้ง สั่งน้ำมูกพร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง (ไม่ควรอุดรูจมูกอีกข้าง) ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก อาจใช้ลูกยางดูดน้ำมูกในจมูกออก โดยให้บีบลูกยางแดงจนสุดเพื่อไล่ลมออก แล้วค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกลึกประมาณ 1 – 1.5 ซม. ค่อย ๆ ปล่อยมือที่บีบออกช้า ๆ เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในลูกยางบีบน้ำมูกในลูกยางแดงทิ้งในกระดาษทิชชู
เรียบเรียงโดย
เภสัชกรกุญชร เหรียญทอง
10 กันยายน 2563