issuu
การใช้กัญชาในประเทศไทย
ถูกกฎหมายจริงหรือไม่
Picture from: https://th.phoneky.com/
การประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ทำให้ใครหลายคนเข้าใจว่า กัญชาเป็นสินค้าถูกกฎหมายในประเทศไทย ใครก็ตามที่อยู่ในประเทศไทยสามารถใช้ กัญชาได้อย่างเสรี เป็นประเด็นที่เข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ด้วย พรบ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) ดังกล่าว มีประเด็นเพียงแค่ ผ่อนปรนให้สามารถนำกัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ โดยตัวกัญชายังคงสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่ตามประกาศ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
ข้อเท็จจริงทางด้านกฎหมายข้างต้น ก่อให้เกิดคำถามในสังคมหลากหลายประเด็น ตั้งแต่ กัญชาทางการแพทย์คืออะไร ใครสามารถขายผลิตภัณฑ์กัญชาได้ภายใต้ พรบ.ฉบับนี้ ผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบใดที่จัดว่าเป็นกัญชาทางการแพทย์ ตลอดจน ใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิ์ใช้กัญชาทางการแพทย์ดังกล่าว หรือประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคม อาหาร หรือเครื่องดื่ม หรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชาสามารถจำหน่าย หรือบริโภคในประเทศโดยถูกกฎหมายหรือไม่
คำสำคัญของ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 สำหรับประชาชนในการทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวก็คือ การใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย ต้องเป็น “กัญชาที่ใช้ทางการแพทย์”เท่านั้น หรือหากกล่าวเป็นภาษาชาวบ้านที่เข้าใจได้ง่าย คือ หากใช้โดยแพทย์แผนปัจจุบัน กัญชาที่ใช้นั้นต้องเป็นสิ่งที่ได้จากการสกัดพืชกัญชา และต้องนำมาเพื่อใช้ในการรักษา บรรเทาอาการ หรือการวิจัยในโรค หรือกลุ่มอาการที่ประกาศหรือแนะนำโดยกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น นั่นหมายความว่าแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่สามารถจ่ายตัวกัญชาในสภาพที่เป็นพืช หรือส่วนประกอบของพืช อันได้แก่ ดอก หรือ ใบให้กับคนไข้โดยตรงได้ และหากเป็นกรณีของหมอพื้นบ้าน หรือ แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ ต้องเป็นผู้ที่ใบอนุญาต และได้รับการขึ้นทะเบียน รวมถึงต้องใช้เพื่อรักษา หรือบรรเทาอาการบางอย่างเท่านั้น จึงจะสามารถใช้กัญชาในรูปของพืชสมุนไพรกับผู้ป่วยได้
จากเงื่อนไขของ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 ที่ระบุอนุญาตเฉพาะสารสกัดพืชกัญชาเท่านั้น ที่สามารถใช้ในทางการแพทย์ สำหรับแผนปัจจุบัน ทำให้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา ยังมีรูปแบบไม่หลากหลายนัก ส่วนใหญ่จำหน่ายในรูปของน้ำมันกัญชา สำหรับหยดใต้ลิ้น หรือสเปรย์พ่นในปาก
Picture from: https://www.marketwatch.com/story/cannabis-stocks-rally-on-continued-excitement-about-cbd-infused-drinks-2018-10-01
Picture from https://fineartamerica.com/featured/1-cannabis-chocolate-eurekareportersscience-photo-library.html
และจากสาระสำคัญของ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 ข้างต้น อาจกล่าวได้โดยสรุปว่า อาหาร เครื่องดื่ม ลูกอม คุกกี้ ชอคโกแลต หรือขนมขบคี้ยวทุกชนิด ที่ผสมกัญชา ยังคงเป็นสิ่งของผิดกฎหมายในประเทศไทยทั้งสิ้นในขณะนี้
ดังนั้นหากผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไป มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ การซื้อ การขาย หรือแม้แต่การมี เครื่องดื่ม หรือ ขนม หรือ ลูกอม หรือ ชอคโกแลต ที่มีส่วนผสมของกัญชาไว้ในครอบครอง ในขณะที่อยู่ในประเทศไทย ต้องระวังว่าอาจเข้าข่ายผิดตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ . 2522 ได้
28 เม.ย. 2563
เอกสารอ้างอิง
- พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562
- พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ 2562
- กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข “คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์” เมษายน 2562
- คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย “สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ คำแนะนำสำหรับแพทย์ ฉบับที่ 1” ตุลาคม 2562