issuu
การระบาดของ “ยาปลอม” มาคู่กับการระบาดของ “โควิด19”
โดย รองศาสตราจารย์ ภญ. ดร. เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์
“โควิด19” เป็นโรคระบาดใหญ่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับให้เป็นมหาโรคระบาด (pandemic) ผู้คนทั่วโลกซึ่งอยู่ท่ามกลางความหวาดวิตกกับเชื้อโรคอุบัติใหม่นี้ ต่างมีความคาดหวังว่าจะมีการค้นพบยาที่มาใช้รักษาโรคนี้ได้ เมื่อมีข่าวเกิดขึ้นจากมุมหนึ่งมุมใดของโลกว่า มีการศึกษาวิจัยอะไรที่พอจะมีแนวโน้มว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ว่า จะสามารถพัฒนาวิจัยถึงความสามารถในการใช้เป็นยารักษาต่อไปได้ ก็จะมีผู้คนจำนวนมากอยากจะไปหาซื้อมาใช้เลย
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นอันเกิดจากข่าวว่า มีการวิจัยในฝรั่งเศส พบว่ายารักษามาลาเรียชนิดหนึ่ง คือ ไฮดร๊อกซี่คลอโรควิน (hydrochloroquine) ให้ผลการรักษาเบื้องต้นที่ดีกับผู้ป่วยโรคโควิด19 จำนวนน้อย และยังไม่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เมื่อมีข่าวออกมา และประธานาธิบดีของประเทศหนึ่งพูดสนับสนุนให้ใช้ จึงมีความต้องการยานี้เพิ่มสูงขึ้นทันที และเกิดการระบาดของยาปลอมตามมาอย่างรวดเร็ว ในอาฟริกา มีผู้หาซื้อคลอโรควินมารับประทานเองจนทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง การใช้ยากลุ่มคลอโรควินอาจมีอันตรายจากอาการข้างเคียงของยาอยู่แล้ว การใช้ยาคลอโรควินปลอมยิ่งอันตรายมากขึ้นได้
ความต้องการที่มาจากความกังวลแบบนี้ ประกอบกับการที่ประเทศต่างๆ ต้องยุติกิจกรรมการผลิตและการค้าจำนวนมากเพื่อป้องกันการติดต่อของเชื้อ “โควิด19” ทำให้อุตสาหกรรมยาทั้งกระบวนการต้องหยุดหรือขาดตอน ตั้งแต่อุตสาหกรรมผลิตวัตถุดิบตัวยา ซึ่งมีจีนและอินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตหลัก กับอุตสาหกรรมผลิตยาจนถึงวัสดุต่างๆที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตยาในหลายๆประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนยาอย่างมาก ช่องว่างแห่งความขาดแคลนนี้ จึงกลายเป็นช่องทางของผู้ฉวยโอกาสที่ผลิตยาปลอมออกมาขายผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงทางออนไลน์ จำนวนมากในขนาดที่ไม่เคยพบมาก่อน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระแส “การค้ายาปลอม” เกิดขึ้นมากมายในที่ต่างๆของโลก ที่เป็นทั้งการค้าในประเทศและระหว่างประเทศ จนมีผู้เปรียบเทียบว่า “ยาปลอม” กำลังกลายเป็นมหาโรคระบาดอีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับมหาโรคระบาด“โควิด19”
เมื่อเร็วๆนี้ ตำรวจสากล (Interpol) รายงานว่า ได้จำผู้ค้ายาปลอมระหว่างประเทศมากถึง 121 ราย ใน 90 ประเทศ ภายในเวลา 1 สัปดาห์ โดยมีมูลค่ายาที่ยึดได้สูงถึง 14 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
“ยาปลอม” (counterfeit drugs หรือ fake drugs) คือผลิตภัณฑ์ที่ดูเหมือนยา แต่ไม่ใช่ยาจริง ปรากฎในหลายลักษณะ
- ยาที่แอบอ้างว่าเป็นยาใดยาหนึ่ง แต่ไม่มียาชนิดนั้นอยู่เลย ในเม็ด ในขวด ในหลอด ในตลับ ในกล่อง หรือในซอง ที่มีการพิมพ์ชื่อยานั้น
- ยาที่แอบอ้างว่าเป็นยาใดยาหนึ่ง แต่ไม่มียาชนิดนั้นอยู่ในปริมาณที่สูงหรือต่ำกว่าปริมาณยาที่กำหนด เกินกว่าระดับที่อนุญาต
- ยาที่แอบอ้างว่าเป็นยาใดยาหนึ่ง มียาชนิดนั้นอยู่จริง แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย จึงไม่มีการตรวจสอบคุณภาพตามกฎหมาย
- ยาที่แอบอ้างว่าเป็นยาใดยาหนึ่งซึ่งผลิตโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ไม่ได้ผลิตโดยบริษัทนั้นจริง
- ยาที่แอบอ้างวันหมดอายุที่ไม่ตรงกับความจริง
ยาทั้งหลายเหล่านี้ ถือว่าเป็นยาปลอม เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผู้ใดผลิต จำหน่ายจ่ายแจก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีโทษตามกฎหมาย
กฎหมายยาของทุกประเทศ มีบทบัญญัติและบทลงโทษเกี่ยวกับยาปลอม พระราชบัญญัติยาของประเทศไทยระบุว่า ยาหรือวัตถุต่อไปนี้เป็นยาปลอม
(1) ยาหรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนว่าเป็นยาแท้
(2) ยาที่แสดงชื่อว่าเป็นยาอื่นหรือแสดงเดือน ปีที่ยาสิ้นอายุ ซึ่งมิใช่ความจริง
(3) ยาที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ซึ่งมิใช่ความจริง
(4) ยาที่แสดงว่าเป็นยาตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งมิใช่ความจริง
(5) ยาที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานถึงขนาดที่ปริมาณหรือความแรงของสารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินกว่าร้อยละยี่สิบจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด ซึ่งกำหนดไว้ในตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้
ตัวอย่างยาปลอมที่พบในงานวิจัยของ USP เพื่อศึกษาคุณภาพยากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
ที่มา: S Ratanawijitrasin and S Phanouvong (2014) The State of Medicine Quality in the Mekong Sub-Region. Bangkok, Thailand: Institut de Recherche sur l'Asie du Sud-Est Contemporaine.