issuu
ฟ้าทะลายโจร
ป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัส “โควิด-19”
ได้จริงหรือ?
“การป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ด้วยฟ้าทะลายโจรได้ ข้อมูลในปัจจุบัน ไม่เป็นความจริง”
ความเป็นจริงแล้วยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการด้านงานวิจัยที่ระบุว่ายาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสามารถรับประทานเพื่อรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
รวมถึงไม่มีผลงานวิจัยใด ๆ ระบุชัดเจนว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรรับประทานเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ มีเพียงผลงานวิจัยที่ศึกษาถึงฤทธิ์ของสารสกัดของสมุนไพรโบราณฟ้าทะลายโจรว่ามีฤทธิ์มีเภสัชวิทยาหลากหลาย เช่น ต่อต้านกระบวนการอักเสบ ลดไข้ ต้านอนุมูลอิสระไซโตท็อกซินในเซลล์ตับและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงแค่การทดสอบถึงฤทธิ์ของสารในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองเท่านั้น ซึ่งต้องรอผลงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาและป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป
ในปัจจุบันฟ้าทะลายโจรมีผลงานวิจัยที่มีหลักฐานชัดเจนถึงประโยชน์และความปลอดภัยในกลุ่มยารักษาโรคไว้ 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ 2. กลุ่มยาบรรเทาอาการท้องเสีย และจัดให้อยู่ในสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐานและบัญชียาหลักแห่งชาติ ของกระทรวงสาธารณสุขไทย รายละเอียดดังต่อไปนี้
ประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรที่มีงานวิจัยรับรอง คือ
- 1. กลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ
มีข้อบ่งใช้
สำหรับบรรเทาอาการเจ็บคอ บรรเทาอาการของโรคหวัด
คำแนะนำในการใช้ยาดังกล่าวมีดังนี้
- บรรเทาอาการเจ็บคอ ที่เกิดจากกระบวนการอักเสบของภาวะอาการไข้หวัดลงคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่รวมถึงภาวะเจ็บคอที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่มีลักษณะคอเป็นจุดขาวหนองในคอ หรือเจ็บคอจากภาวะคอหอยอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบจากการเชื้อแบคทีเรีย
- บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ตัวร้อน
ขนาดสำหรับการรับประทาน
บรรเทาอาการหวัด เจ็บคอ รับประทานครั้งละ 1.5-3 กรัม (ซึ่งต้องดูว่าใน 1 แคปซูลระบุว่ามีปริมาณฟ้าทะลายโจรกี่มิลลิกรัมหรือกรัม โดยส่วนใหญ่ 1 แคปซูลจะมีตัวยา 400-500 มิลลิกรัม) ซึ่งต้องรับประทานครั้งละ 4-6 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน
- กลุ่มยาบรรเทาอาการท้องเสีย
มีข้อบ่งใช้
สำหรับบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ท้องเสียที่ไม่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอาการไข้ ปวดบิดท้อง รวมถึงอจุจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน
ขนาดและวิธีใช้
รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ถึง 2 กรัม (ครั้งละ 1-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน
อาการไม่พึงประสงค์
อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน ท้องเสีย ท้องผูก เบื่ออาหาร ขมปากขมคอ คลื่นไส้โดยเฉพาะการรับประทานก่อนอาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ปวดศีรษะ ผื่นแพ้ และเกิดลมพิษได้
ข้อห้ามใช้ของฟ้าทะลายโจรคือ
- ผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร
- ผู้ป่วยโรคตับ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน
- หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- ผู้ป่วยที่เจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Streptococcus group A)
- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบ เนื่องจากเคยติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกลุ่มเอ (Streptococcus group A)
- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูมาติค
- ผู้ป่วยที่เจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียและมีอาการรุนแรง
ข้อควรระวัง
- ระวังการใช้ติดต่อกันนาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง
- หากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และพบแพทย์
- ห้ามใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรขนาด 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1กิโลกรัม (ตัวอย่างเช่น หากเราน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ขนาดยาฟ้าทะลายโจรคือ 50 x 100 = 5000 มิลลิกรัม) ติดต่อกันเกิน 14 วัน เนื่องจากอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้
- หากมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด และหรือยาละลายลิ่มเลือด ควรระวังการใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันเนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในร่างกายบางชนิดที่มีหน้าที่เปลี่ยนแปลงยา เมื่อรับประทานร่วมกันระดับยาจะถูกกำจัดออกได้น้อยผลอาจทำให้ยาละลายลิ่มเลือดมีฤทธิ์มากขึ้น ส่งผลให้เลือดใสไม่เหนียวข้นเท่าที่ควรทำให้เกิดภาวะเลือดออกตามอวัยวะในร่างกายได้
การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่น่าเชื่อถือ
- เลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ เช่น ร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำ ร้านยาแผนโบราณที่มีแพทย์แผนไทยให้คำแนะนำ
- ก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ควรมองรายละเอียดบนตัวผลิตภัณฑ์ว่าบอกอะไรบ้าง มีฉลากหรือไม่ ภายในฉลากมีชื่อผู้ผลิต ชื่อสินค้า ปริมาณสินค้า วิธีใช้ คำเตือน วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุครบแล้วหรือยังอีกทั้งผลิตภัณฑ์ มีเลขที่ได้รับจากอย. เช่น เลขทะเบียนยา แจ้งไว้หรือไม่
ระวัง !!! คำชวนเชื่อที่เกินจริง
ข้อสรุป ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือผลงานวิจัยใด ๆ ที่ระบุว่าฟ้าทะลายโจรใช้ป้องกันหรือรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) มีเพียงข้อมูลที่สนับสนุนระบุว่าฟ้าทะลายโจรรักษาอาการที่เกิดจากโรคหวัดธรรมดา (common cold) เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีไข้ได้ ฉะนั้นคนไทย ไม่ควรหาซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อกักตุน หรือหาไปรับประทานเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว จนทำให้ผู้ป่วยจากโรคหวัดธรรมดาไม่มีฟ้าทะลายโจรใช้ หรือมีราคาที่สูงขึ้นมากดังเช่นในปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
- Liu W, Fan T, Li M, Zhang G, Guo W, et al. Andrographolide potentiates PD-1 blockade immunotherapy by inhibiting COX2-mediated PGE2 release. Int Immunopharmacol. 2020 Feb 1;81:106206. doi: 10.1016/j.intimp.2020.106206.
- Adedayo BC, Ogunsuyi OB, Akinniyi ST, Oboh G. Effect of Andrographis paniculata and Phyllanthus amarus leaf extracts on selected biochemical indices in Drosophila melanogaster model of neurotoxicity. Drug Chem Toxicol. 2020 Jan 3:1-10. doi: 10.1080/01480545.2019.1708377.
- Tajidin NE, Shaari K, Maulidiani M, Salleh NS, Ketaren BR, et.al. Metabolite profiling of Andrographis paniculata (Burm. f.) Nees. young and mature leaves at different harvest ages using 1H NMR-based metabolomics approach. Sci Rep. 2019 Nov 14;9(1):16766. doi: 10.1038/s41598-019-52905-z.
- Zhang L, Bao M, Liu B, Zhao H, Zhang Y, et.al. Effect of Andrographolide and Its Analogs on Bacterial Infection: A Review. Pharmacology. 2020;105(3-4):123-134. doi: 10.1159/000503410. Epub 2019 Nov 6.
- Adeoye BO, Oyagbemi AA, Asenuga ER, Omobowale TO, Adedapo AA. The ethanol leaf extract of Andrographis paniculata blunts acute renal failure in cisplatin-induced injury in rats through inhibition of Kim-1 and upregulation of Nrf2 pathway. J Basic Clin Physiol Pharmacol. 2018 Nov 30;30(2):205-217. doi: 10.1515/jbcpp-2017-0120.
- Paemanee A, Hitakarun A, Wintachai P, Roytrakul S, Smith DR. A proteomic analysis of the anti-dengue virus activity of andrographolide. Biomed Pharmacother. 2019 Jan;109:322-332. doi: 10.1016/j.biopha.2018.10.054. Epub 2018 Nov 3.
- กมล สวัสดีมงคล อุไรวรรณ เพิ่มพิพัฒน์ นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี มนัส หวังหมัด กัลยา อนุลักษณาปกรณ์ สุชาดา กิตติศิริพรกุล วราพร จิรจริยะเวช. การศึกษาทางเภสัชวิทยาของฟ้าทะลายโจร. รายงานการประชุมฟ้าทะลายโจร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.
- Vedavathy S, Rao KN. Antipyretic activity of six indigenous medicinal plants of Tirumala hills, Andhra Pradesh, India. J Ethnopharmacol 1991;33:193-6.
- นาถฤดี สิทธิสมวงศ์ เจษฎา เพ็งชะตา ทรงพล ชีวะพัฒน์ และคณะ. พิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังของฟ้าทะลายโจร. ไทยเภสัชสาร 2532;14(2):109-18.
- แก้ว กังสดาลอำไร วรรณี โรจนโพธิ์. การประเมินฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสมุนไพรไทยในรูปของยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และสมุนไพรบางชนิด โดยวิธีเอมส์เทสต์. รายงานการวิจัย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- https://www.pharmacy.mahidol.ac.thth/knowledge/article/484/ฟ้าทะลายโจร-โควิด-19
- บัญชียาจากสมุนไพรปรับปรงุล่าสุด ถึง ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ(ฉบับที่2) พ.ศ. 2555 ประกาศ ณ วันที่21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 23 มกราคม 2556.
- Suebsasana S, Pongnaratorn P, Sattayasai J, Arkaravichien T, Tiamkao S, et.al. Analgesic, antipyretic, anti-inflammatory and toxic effects of andrographolide derivatives in experimental animals. Arch Pharm Res. 2009 Sep;32(9):1191-200. doi: 10.1007/s12272-009-1902-x. Epub 2009 Sep 26.