issuu
ห้องมัลติมีเดีย
ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัย (alcohol-based hand sanitizers)
สำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัส “โควิด-19”
โดย อ.ภญ.ดร.อินทิรา กาญจนพิบูลย์
“มือ” เป็นอวัยวะที่มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ จากการสัมผัส และเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นหรือพื้นผิวต่าง ๆ ได้มากที่สุด
โดยทั่วไปการล้างมือด้วยสบู่ก้อนหรือสบู่เหลว ร่วมกับการล้างน้ำธรรมดา (normal hand washing) ให้ทั่วทั้งมือและนิ้วมือ เป็นเวลานานอย่างน้อย 20 วินาที แล้วเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด เป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและได้ผลดีอย่างยิ่งในการกำจัดเชื้อไวรัสต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจปนเปื้อนผ่านมือมาโดยไม่สามารถมองเห็นได้ การล้างมือ จึงเป็นทางเลือกแรกที่แนะนำให้ประชาชนทุกคนทำบ่อย ๆ เพื่อช่วยลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจมีการปนเปื้อนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดนี้
อย่างไรก็ตาม ในบางโอกาสที่ไม่สะดวกในการล้างมือ เช่น ระหว่างการเดินทาง อยู่ในสถานที่ที่ไม่สามารถล้างมือได้ ฯลฯ การล้างมือด้วยผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ (alcohol-based hand sanitizer) ก็สามารถใช้เป็นทางเลือกที่สองในการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจมีการปนเปื้อนทั้งบนมือและบนพื้นผิวต่าง ๆ แทนสบู่และน้ำอย่างได้ผลเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถพกพาติดตัวไปได้ ใช้ได้ง่ายสะดวกโดยไม่ต้องมีการล้างน้ำออก ประหยัดเวลา ใช้ได้บ่อยทุกที่ทุกเวลาที่ไม่สามารถหาที่ล้างมือด้วยสบู่และน้ำได้
การใช้แอลกอฮอล์ให้ได้ผลดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเข้าใจคุณสมบัติต่าง ๆ ของแอลกอฮอล์ เพื่อให้สามารถเลือกผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
- ฤทธิ์การฆ่าเชื้อไวรัสของแอลกอฮอล์
ดูดน้ำออกจากเซลล์ และทำลายไขมันที่เยื่อหุ้มเซลของเชื้อไวรัส ทำให้ไวรัสตาย
- ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัย
2.1. การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ควรพิจารณา
2.1.1. ส่วนประกอบหลัก
- ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ใช้เอทธิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) บางสูตรอาจใช้ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) หรืออาจใช้แอลกอฮอล์ทั้งสองอย่างนี้ผสมกัน
- ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ต้องอย่างน้อย 70% โดยปริมาตรขึ้นไป โดยความเข้มข้นในช่วง 70 – 80% โดยปริมาตร จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้ดีที่สุด
(ตัวอย่าง: ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ 70% โดยปริมาตร หมายถึง ผลิตภัณฑ์มีเนื้อแอลกอฮอล์ 70 ซี.ซี. ผสมกับน้ำ 30 ซี.ซี. รวมเป็น 100 ซี.ซี.)
2.1.2. ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มักมีการใส่เพื่อช่วยถนอมมือและน่าใช้ เช่น
- สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง – เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการดึงน้ำออกจากผิวหนัง จึงทำให้ผิวหนังแห้งเมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือบ่อย ๆ ส่วนใหญ่จึงมักมีการเติมสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง เช่น กลีเซอรีน (glycerine), โพรพีลีนไกลคอล (propylene glycol), ลาโนลิน (lanolin) เป็นต้น
- สารแต่งสีและกลิ่น – เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีรูปลักษณ์ที่ดีน่าใช้
2.1.3. รูปแบบของผลิตภัณฑ์
- ที่นิยมใช้กันมี 2 แบบ ได้แก่ สเปรย์แอลกอฮอล์ (alcohol spray) และเจลแอลกอฮอล์ (alcohol gel)
- เปรียบเทียบคุณสมบัติของสเปรย์แอลกอฮอล์ (alcohol spray) และเจลแอลกอฮอล์ (alcohol gel)
2.1.4. คุณลักษณะที่ดีของผลิตภัณฑ์
- สเปรย์แอลกอฮอล์ และเจลแอลกอฮอล์ เมื่อใช้แล้วควรระเหยไปได้หมด ให้ความชุ่มชื้นแก่มือพอสมควรเพื่อไม่ให้มือแห้งมาก แต่ไม่ควรทิ้งความเหนียวเหนอะหนะมากเกินไป เนื่องจากในทางปฏิบัติต้องมีการใช้บ่อยครั้ง หากมีความเหนียวตกค้างอยู่ที่มือ อาจเป็นเหตุให้เกิดการสะสมสิ่งสกปรกและเชื้อโรคไว้ได้มากกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อไวรัสแทน
- บรรจุในภาชนะปิดสนิทป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์ระเหยได้ง่าย ทำให้ความเข้มข้นลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อลดลงได้ด้วย
2.1.5. ฉลากผลิตภัณฑ์
- ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัย จัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ต้องจดแจ้งข้อมูลไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงมีข้อกำหนดฉลากของผลิตภัณฑ์ให้ระบุข้อความต่าง ๆ ตามกฎหมาย ได้แก่ ชื่อผลิตภัณฑ์และชื่อทางการค้า, ประเภทหรือชนิดของผลิตภัณฑ์, ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม, วิธีใช้, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต, ปริมาณสุทธิ, ครั้งที่ผลิต, เดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ, คำเตือน, และเลขที่ใบรับจดแจ้ง
- เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างทั่วทั้งโลก เป็นเหตุให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยสูงขึ้นกว่าปกติอย่างมาก ในท้องตลาดจึงมีผลิตภัณฑ์ปลอมหรือไม่มีคุณภาพมาจำหน่าย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งได้จากเว็บไซต์
https://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx
2.2. การทำใช้เองในครัวเรือน ควรพิจารณา
2.2.1. วัตถุดิบแอลกอฮอล์ที่จะนำมาทำ
- ต้องเลือกใช้เอทธิลแอลกอฮอล์หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์เท่านั้น ห้ามใช้เมทธิลแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เนื่องจากมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไม่ดีและมีพิษต่อร่างกาย
- ต้องมีความเข้มข้นของเอทธิลแอลกอฮอล์หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์สูงกว่า 70% โดยปริมาตรเท่านั้น เนื่องจากต้องนำมาผสมกับส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง สารก่อเนื้อเจล น้ำ ฯลฯ ดังนั้น หากตั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% โดยปริมาตร เช่น ยาแอลกอฮอล์เช็ดแผล เมื่อนำมาผสมสารอื่น ๆ แล้ว ความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์จะลดลงต่ำกว่า 70% ซึ่งจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อไวรัส ทั้งนี้ พบว่ามีเว็บไซต์จำนวนมากที่มีการเผยแพร่สูตรตำรับแอลกอฮอล์ที่ตั้งต้นจากวัตถุดิบที่เป็นแอลกอฮอล์เช็ดแผล ความแรง 70% โดยปริมาตร แล้วนำไปผสมกับสารให้ความชุ่มชื้นอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 70% โดยปริมาตร ซึ่งจะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้
- วัตถุดิบแอลกอฮอล์เข้มข้นสำหรับนำมาเจือจางเป็นสเปรย์แอลกอฮอล์หรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะมีความแรงอยู่ในช่วง 95 – 99 % โดยน้ำหนัก มักมีจำหน่ายตามร้านค้าที่จำหน่ายสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งเวลานำมาเจือจางต้องคำนวณปริมาตรที่ต้องใช้อีกครั้ง
2.2.2. ตัวอย่างสูตรตำรับของผลิตภัณฑ์อาจดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) https://oryor.com/อย/detail/media_news/1795
- วิธีการใช้อย่างถูกต้อง
- ใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือปริมาณ 3 – 5 ซี.ซี. ถูให้ทั่วถึงทั้งมือและนิ้ว เป็นเวลานานอย่างน้อย 20 วินาที เหมือนการล้างมือธรรมดาด้วยน้ำและสบู่ แล้วรอให้แห้งจึงจะได้ผล
- ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ มือจะต้องไม่มีสิ่งสกปรกหรือปนเปื้อนสารคัดหลังต่าง ๆ เช่น เสมหะ เลือด น้ำเหลือง เนื่องจากคุณสมบัติของแอลกอฮอล์ไม่สามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปได้มากเพียงพอที่จะฆ่าเชื้อได้ ดังนั้นหากมือสกปรกมีสิ่งปนเปื้อนดังกล่าว ควรใช้วิธีการล้างด้วยสบู่และน้ำจะได้ผลดีกว่า
- ข้อควรระวัง
ในบางครั้งอาจมีการนำผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยไปใช้ในลักษณะอื่น ๆ นอกจากการล้างมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กับพื้นผิวต่าง ๆ ที่มักมีการสัมผัสบ่อย เช่น โต๊ะ, ลูกบิดประตู, สวิตช์ไฟฟ้า, ที่จับประตู, ชักโครก, ก๊อกน้ำ, อ่างล้างมือ, ฯลฯ ต้องระวังเนื่องจากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์มักมีการใส่สารที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นหรือสารที่ทำให้เกิดเนื้อเจล ซึ่งมีลักษณะเหนียวหรือข้นหนืด จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดการจับฝุ่นละออง/สิ่งสกปรกบนพื้นผิด อันจะเป็นแหล่งของเชื้อที่แพร่กระจายต่อไปได้ ดังนั้น หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ในการกำจัดเชื้อไวรัสบนพื้นผิวต่าง ๆ สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่ไม่มีสารเหล่านี้แทน เช่น ยาแอลกอฮอล์เช็ดแผล ความแรง 70% โดยปริมาตร ที่มีจำหน่ายทั่วไป นอกจากนี้ อาจเลือกใช้น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดอื่น ๆ เช่น โซเดียมไฮโปครอไรท์ (sodium hypochlorite) ที่เป็นน้ำยาซักผ้าขาวหลายผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดแทน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสบนพื้นผิวได้ดี รวมทั้งพื้นผิวที่อาจมีการปนเปื้อนสิ่งสกปรกหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ สารนี้ก็จะสามารถแทรกซึมเข้าไปในสิ่งปนเปื้อนได้ดีกว่าแอลกอฮอล์มาก โดยอาจต้องราดทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที เพื่อกำจัดเชื้อที่ปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บรรณานุกรม
- Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Cleaning and disinfecting your home. Retrieved 21 April, 2020 from https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/downloads/disinfecting-your-home.pdf
- Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Guideline for Disinfection and Sterilization in Healthcare Facilities (2008). Retrieved 21 April, 2020 from https://www.cdc.gov/infectioncontrol/guidelines/disinfection/disinfection-methods/chemical.html#Alcohol
- Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Guideline for Disinfection and Sterilization in Healthcare Facilities (2008). Retrieved 21 April, 2020 from
- United States Environmental Protection Agency (EPA). Pesticide Registration – List N: Disinfectants for Use Against SARS-CoV-2. Retrieved 21 April, 2020 from https://www.epa.gov/pesticide-registration/list-n-disinfectants-use-against-sars-cov-2
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.). ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ถูมือ ต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% v/v จึงสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ – 11 Mar 2020. Retrieved 21 April, 2020 at https://oryor.com/อย/detail/media_printing/1786
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.). วิธีเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์อย่างปลอดภัย – 31 Mar 2020. Retrieved 21 April, 2020 at https://oryor.com/อย/detail/media_printing/1792
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.). การเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ ป้องกันสินค้าปลอม – 31 Mar 2020. Retrieved 21 April, 2020 at https://oryor.com/อย/detail/media_printing/1794
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.). เตือนอย่าใช้เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนผสมเจลล้างมือ – 3 Mar 2020. Retrieved 21 April, 2020 at https://oryor.com/อย/detail/media_printing/1786
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.). อย. แนะ วิธีการเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ ป้องกันสินค้าปลอม – 2 Apr 2020. Retrieved 21 April, 2020 at https://oryor.com/อย/detail/media_news/1813
- สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.). สารต้านเชื้อจุลชีพที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข. Retrieved 21 April, 2020 at http://www.fda.moph.go.th/sites/Hazardous/RegionM/final-KM%20.pdf
- สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล. นนทบุรี: โรงพิมพ์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; กันยายน 2556.