issuu
แค่อารมณ์เศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้า
เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า ผู้อ่านหลายๆท่านคงจะนึกถึงเหตุการณ์หรือข่าวหลายๆข่าว ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือดารา นักแสดงที่ชื่นชอบที่ตัดสินใจจบชีวิตจากโรคนี้ แล้วทุกท่านพอจะทราบกันไหมคะว่าโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร แค่รู้สึกเศร้าๆ ตอนอกหักหรือสูญเสียแค่นั้นหรือเปล่า หรือจะต้องมีอะไรอย่างอื่นร่วมด้วย แล้วถ้าเรามีความรู้สึกเศร้า เราจะรู้ได้ไหมว่านี่คืออารมณ์ปกติ หรือว่าเราจะเป็นโรคซึมเศร้า แล้วโรคซึมเศร้านี้มีสาเหตุเกิดจากอะไร หรือจะมีอะไรที่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้านี้ได้ ซึ่งวันนี้เราจะคุยกันทุกเรื่องที่กล่าวไปด้านบน รวมทั้งการดูแลตัวเองถ้าเกิดภาวะนี้ การรักษาและการปฏิบัติตัว เพื่อให้การรักษาเป็นไปด้วยดีและสามารถกลับมาเป็นปกติได้ ท่านผู้อ่านพร้อมกันหรือยังคะ ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลยค่ะ
โรคซึมเศร้า จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของสภาวะอารมณ์ที่ส่งผลกระทบกับความนึกคิด ความรู้สึก พฤติกรรม และสุขภาพกาย ซึ่งจะแตกต่างกับภาวะอารมณ์เศร้า ที่เป็นประสบการณ์ทางสภาวะอารมณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดความผิดหวัง สูญเสีย หรือถูกปฏิเสธ ซึ่งอาการนี้จะเป็นเพียงชั่วขณะ เมื่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่อยู่รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อาการเหล่านี้ก็จะหายไป แต่ถ้าหากเป็นโรคซึมเศร้าโอกาสที่จะหายเองโดยไม่ได้รับการรักษานั้นถือว่าน้อยมาก จากการศึกษามีประมาณ 2-3 คนจาก 10 คน เท่านั้นที่สามารถหายได้เอง โดยคนที่สามารถหายได้เองนี้ต้องไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพราะฉะนั้นหากท่านผู้อ่านท่านใดเป็นโรคซึมเศร้าหรือสงสัยที่จะเป็นโรคซึมเศร้าควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องนะคะ เพราะยิ่งทราบได้เร็ว รักษาเร็วก็จะทำให้การรักษาเป็นไปได้ง่ายนะคะ แล้วท่านผู้อ่านอยากทราบกันไหมคะ ว่าโรคซึมเศร้านี้เกิดมาได้อย่างไร มีอะไรที่เป็นปัจจัยให้เกิดโรคนี้ เรามารู้ไปพร้อม ๆกันค่ะ
สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้านั้นจะมีหลากหลายมิติเลยนะคะท่านผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า ซีโรโตนิน (serotonin) นอร์เอปิเนฟริน(norepinephrine) และโดปามีน (Dopamine) ซึ่งพบว่าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสารสื่อประสาทเหล่านี้จะเสียความสมดุล หรือในด้านของพันธุกรรม ถึงแม้จะไม่ได้มีข้อมูลที่ยืนยันชัดเจนแต่พบความสัมพันธ์ที่ว่าหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า คนอื่น ๆในครอบครัวมีโอกาสเป็นซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป 2.8 เท่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมีประมาณ 31-42% เท่านั้น เพราะยังมีสาเหตุหรือปัจจัยอื่นที่สามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น ลักษณะบุคลิกภาพส่วนตัว คนที่มองโลกในแง่ร้าย มองแต่ด้านลบ เก็บกดไม่แสดงออกเท่าที่ควรก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า หรือยารักษาโรคบางตัวและโรคทางกายบางอย่างก็ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่นโรคเอดส์ โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ยาลดความดันเลือด ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยากลุ่ม สเตียรอยด์และฮอร์โมน จะเห็นได้ว่าโรคนี้มีความซับซ้อนมากกว่าโรคทางกายหลายโรคเลยนะคะ แล้วท่านผู้อ่านทราบไหมคะว่าอาการแบบไหน ลักษณะอย่างไรที่จะบ่งชี้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า เรามารู้เกณฑ์เบื้องต้นในการวินิจฉัยกันดีกว่าค่ะ
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้านั้น จะมีอาการดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 5 อาการ โดยจะต้องมีอารมณ์เศร้า หรือเบื่อหน่ายไม่มีความสุขร่วมด้วยอย่างน้อย 1 อย่าง และอาการเป็นอยู่นานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาการเหล่านั้นได้แก่
- มีอารมณ์เศร้า ซึ่งอารมณ์เศร้าจะมีอยู่ตลอดเกือบตลอดทั้งวันและเป็นทุกวัน
- ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
- เบื่ออาหารจนน้ำหนักลดลง หรือเจริญอาหารมากจนน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่า 5% ต่อเดือน)
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากแทบทุกวัน
- กระวนกระวายอยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลียหรือไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตัวเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากกว่าที่ควร
- สมาธิหรือความคิดอ่านช้าลง
- คิดอยากตายไม่อยากมีชีวิตอยู่
ถึงแม้ว่าอาการทั้ง 9 ข้อนี้คือเกณฑ์ในการวินิจฉัยของโรคซึมเศร้า แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้เองนะคะท่านผู้อ่าน เพราะนอกจากอาการที่กล่าวไปแล้วจิตแพทย์จะต้องมีการซักประวัติพูดคุยกับผู้ป่วยและคนรอบข้างอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อวินิจฉัยแยกโรคเพราะมีหลายโรคที่จะมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย และเพื่อประเมินความรุนแรงของโรคซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนในการรักษา และหากท่านผู้อ่านสนใจที่จะตรวจสอบสภาวะอารมณ์ของตัวเองหรือคนรอบตัวว่ามีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ สามารถทำแบบทดสอบออนไลน์ง่ายๆจากเว็บไซด์ประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิตได้นะคะ โดยจะเป็นแบบทดสอบโดยการตอบคำถาม 9 ข้อ และหากผลของแบบทดสอบมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าจะได้เดินไปปรึกษาจิตแพทย์ได้ แล้วถ้าหากเกิดภาวะซึมเศร้าอยู่ล่ะคะ ท่านผู้อ่านพอจะทราบวิธีดูแลตัวเองหรือช่วยเหลือตัวเองอย่างไรให้อาการดีขึ้นไหมคะ
วันนี้เราจะมีข้อแนะนำในการดูแลตัวเองในขณะที่กำลังซึมเศร้ากันนะคะ อันดับแรกคือ ออกกำลังกายโดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ และถ้ายิ่งได้ออกกำลงกายร่วมกับผู้อื่นด้วยจะยิ่งดี เพราะจะทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และช่วงที่มีอาการซึมเศร้าอยู่นั้นต้องพยายามอย่าตั้งเป้าหมายหรือการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลงถ้าทำไม่ได้ตามที่หวัง และอย่าตัดสินเรื่องสำคัญในชีวิต เช่นลาออกจากงาน การหย่าร้าง ให้ชะลอการตัดสินใจไปก่อน หรือถ้าคิดว่าเรื่องนั้นๆ รบกวนกับอาการที่เป็นอยู่มากๆควรปรึกษาคนใกล้ชิดให้ช่วยตัดสินใจ และพยายามหากิจกรรมที่ตัวเองเคยสนใจทำหรือทำแล้วมีความสุขทำ และถ้ายิ่งได้ทำกิจกรรมร่วมกันผู้อื่นจะยิ่งดีเลยนะคะ เพราะอารมณ์ซึมเศร้าจะมีทั้งช่วงที่อาการเป็นหนักและช่วงที่อาการทุเลา ถ้าเป็นช่วงที่อาการทุเลาก็อาจจะทำให้เกิดการเริ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นได้ และถ้ารู้สึกว่ามีปัญหามากระทบตัวเองหลายๆเรื่อง ให้ค่อยๆ แบ่งหรือจัดกลุ่มปัญหาให้เป็นกลุ่มๆก่อนแล้วค่อยเรียงลำดับว่าจะแก้จุดไหนก่อน อย่าพยายามแก้พร้อมๆกันหลายจุด เพราะจะยิ่งกดดันตัวเอง และอาการอาจจะแย่ลง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้อาการที่มีอยู่เบาบางลงได้บ้าง
แต่ทั้งนี้ถ้าหากอาการยังรบกวนมากอยู่หรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือความนึกคิดของตัวเองได้ให้พาตัวเองไปพบจิตแพทย์นะคะ อย่างปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข เพราะอาการอาจจะยิ่งแย่ลงได้ แล้วถ้าได้รับการรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าล่ะคะ ท่านผู้อ่านคิดว่าเราต้องทราบข้อมูลอะไรบ้าง อันดับแรกเลยคือยาต้านซึมเศร้าจะต้องใช้ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มรับประทานยาอย่าเพิ่งกังวลไปหายอาการยังไม่ดีขึ้นนะคะ และที่สำคัญอีกอย่างคือต้องรับประทานยาให้ต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ต้องไม่ลดหรือเพิ่มขนาดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์นะคะ ถึงแม้ว่าหลายๆท่านอาจจะกลัวว่าถ้ากินยาติดต่อกันนานๆแล้วจะติดยา ซึ่งไม่เป็นความจริงเลยนะคะ ในทางกลับกันถ้ายิ่งกินๆหยุดๆจะยิ่งทำให้อาการแย่ลงและรักษาได้ยากขึ้นกว่าเดิม ถ้าหากเกิดอาการข้างเคียงที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากๆก็สามารถแจ้งแพทย์ที่รักษาเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาได้ และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือการเกิดยาตีกันกับยาอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อที่พึงระวังมากๆเลยนะคะเพราะหากเกิดการตีกันของยาต้านซึมเศร้ากับยาที่มีผลเพิ่มฤทธิ์ของยาต้านซึมศร้าที่ใช้อยู่ก็จะทำให้ฤทธิ์และโอกาสเกิดพิษจากยาเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าหากกินคู่กับยาที่ลดฤทธิ์ของยาต้านซึมเศร้า ก็จะมีผลทำให้ฤทธิ์ของยาไม่เพียงพอในการรักษาได้ นอกจากที่จะเกิดผลในการเพิ่มหรือลดฤทธิ์ของยาต้านซึมเศร้าแล้ว ยาต้านซึมเศร้าก็ยังมีผลลดหรือเพิ่มฤทธิ์ของยาที่กินคู่กันได้ด้วยนะคะ ดังนั้นหากท่านผู้อ่านหรือคนรอบตัวรับประทานยาต้านซึมเศร้าอยู่และมีอาการเจ็บป่วย จำเป็นต้องใช้ยา สมุนไพรหรือต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำเป็นอย่างยิ่งเลยนะคะที่จะต้องแจ้งให้แพทย์ เภสัชกร และผู้ให้บริการทางการแพทย์ทราบว่ารับประทานยาตัวไหนอยู่ หากจำชื่อยาไม่ได้หรือชื่อยาจดจำได้ยาก มีวิธีจัดการง่ายๆเลยก็คือถ่ายรูปแผงยาหรือฉลากยา พร้อมเม็ดยาเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ หรือเขียนโน้ตเล็ก ๆ ติดตัวไว้ด้วยก็ได้นะคะ เพื่อความสะดวกในการบ่งชี้ตัวยา และเพื่อช่วยป้องกันการเกิดยาตีกัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากยาและเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ต่อเนื่อง ทางผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ
เรียบเรียงโดย
เภสัชกรหญิงเอมมิกา กุลกุศล
1 กรกฎาคม 2562
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, “ใบความรู้ที่ 1 เรื่ององค์ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้า”, View 23 June 2019, https://www.chiangmaihealth.go.th/cmpho_web/document/160331145939017730.pdf
- ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล, “โรคซึมเศร้าโดยละเอียด”, View 24 June 2019, https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017
- ศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทย โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์, “องค์ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าในการอบรมการดูแลเฝ้าดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าสำหรับผู้ปฏิบัติในพื้นที่”, View 24 June 2019, www.thaidepression.com/www/54/km-cpg.ppt
- โรงพยาบาลกรุงเทพ, “ประเภทโรคซึมเศร้า (Depression)”, View 29 June 2019, https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/depression-type
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น, “แพทย์มข.ชี้”ซึมเศร้า แค่โรคชนิดหนึ่ง เกิดได้หายได้ ไม่ใช่ปมด้อย”, View 29 June 2019, https://m.kku.ac.th/news/content.php?did=N0016834&l=th
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “ทำความเข้าใจ”โรคซึมเศร้า”ในมุมมองของนักจิตวิทยา”, View 30 June 2019, https://tu.ac.th/thammasat-liberal-arts-psychology-depression
- ประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิต, “แบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม (9Q)”, View 30 June 2019, http://www.prdmh.com/แบบประเมินโรคซึมเศร้า-9-คำถาม-9q.html