issuu
โบท็อกซ์สารพิษ พิชิตผิววัยเยาว์
เมื่อเห็นคำว่า “โบท็อกซ์” หลายๆท่านคงนึกถึงคลินิกเสริมความงามก่อนเลยใช่ไหมคะ? แล้วท่านผู้อ่านได้ทราบข่าวเกี่ยวกับโบท็อกซ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาบ้างไหมคะ ซึ่งเป็นข่าวที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าบุกทลายแหล่งนำเข้าและจำหน่ายโบท็อกซ์ปลอมผิดกฎหมาย ซึ่งมีมูลค่าและปริมาณมหาศาล และที่สำคัญมีการจำหน่ายสินค้าเหล่านั้นไปแล้วหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นคลินิกเสริมความงาม หรือจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรงผ่านทางสื่อโซเชียลต่างๆ และเมื่อย้อนไปประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ยินข่าวสาวชาวสิงคโปร์ที่ไปฉีดโบท็อกซ์ที่คลินิกเสริมความงามแล้วเกิดอาการผิดปกติ นอนอาการโคม่านาน 5 วันก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งตามข้อมูลในข่าวยังไม่ระบุแน่ชัดว่าเกิดจากการฉีดโบท็อกซ์หรือไม่ และยังมีอีกหลายๆข่าวในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับเจ้า “โบท็อกซ์” แล้วทุกท่านทราบกันไหมคะว่า เจ้า “โบท็อกซ์” นี้คืออะไร ได้มาจากไหน ใช้ทำอะไรได้บ้าง อันตรายไหม ถ้าตัดสินใจจะไปเสริมความงามด้วยโบท็อกซ์ต้องเตรียมตัวอย่างไร และต้องรู้อะไรบ้าง วันนี้เราจะมารู้ไปพร้อม ๆ กันค่ะ เรามาเริ่มกันเลยนะคะ
“โบท็อกซ์” ที่เรามักเรียกกันจนคุ้นหูนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นชื่อทางการค้าของสารโบทูลินุ่ม ท็อกซิน ชนิดเอ(Botulinum toxin Type A) เมื่อมีคำว่า “ท็อกซิน” ซึ่งมีความหมายว่าสารพิษ ก็บ่งบอกว่าสารนี้เป็นสารที่มีพิษ และจัดอยู่ในกลุ่มสารที่มีพิษต่อระบบประสาท แต่ถึงอย่างนั้นท่านผู้อ่านก็อย่าได้ตระหนกไป เนื่องจากทางการแพทย์มีกระบวนการคิดค้น ศึกษาทดลอง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์โดยมีโอกาสเกิดพิษได้น้อยที่สุด แล้วทุกท่านอยากทราบกันไหมคะว่าสารโบทูลินุ่ม ท็อกซิน นี้ได้มาจากไหน วันนี้เราจะทราบไปพร้อม ๆกันค่ะ
สารโบทูลินุ่ม ท็อกซิน เป็นโปรตีนบริสุทธิ์ที่สกัดได้จากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน แล้วนำมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ได้สารที่บริสุทธิ์ มีเฉพาะสารที่ออกฤทธิ์และไม่ก่อให้เกิดโรค ในปัจจุบันสารโบทูลินุ่ม ท็อกซินที่มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ โบทูลินุ่ม ท็อกซิน ชนิดเอ (botulinum toxin type A) และ โบทูลินุ่ม ท็อกซิน ชนิดบี (botulinum toxin type B) โดยสารโบทูลินุ่ม ท็อกซิน ชนิดเอ เป็นสารที่มีความแรงมากที่สุด และมีความแรงมากกว่าโบทูลินุ่ม ท็อกซิน ชนิดบี ประมาณ 50 เท่า ซึ่งในท้องตลาดมีจำหน่ายทั้ง 2 ชนิด แต่โบทูลินุ่ม ท็อกซิน ชนิดเอ จะได้รับความนิยมมากกว่า และมีหลากหลายชื่อการค้าที่ผลิตมาจากหลากหลายประเทศ และถึงแม้ว่าแต่ละยี่ห้อจะมีส่วนประกอบเป็นสารโบทูลินุ่มชนิดเดียวกัน แต่เมื่อผลิตมาจากคนละประเทศก็จะทำให้ความแรงและขนาดยาไม่เท่ากันนะคะ ซึ่งรายละเอียดความแรงและขนาดของยามีความซับซ้อนจึงขออนุญาตไม่กล่าวถึงในที่นี้นะคะ และทางผู้เขียนก็ได้พาท่านผู้อ่านมารู้จักความเป็นมาของเจ้า “โบท๊อกซ์” พอประมาณแล้วนะคะ แล้วท่านผู้อ่านทราบไหมคะว่านอกเหนือจากจะนำโบท็อกซ์มาใช้เพื่อความงามแล้ว ทางการแพทย์ยังมีการนำโบท็อกซ์ มาใช้เพื่อรักษาอาการป่วยที่เกิดจากการเกร็งตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคตากระตุก (nystacmus) อาการกระพริบตาถี่และค้าง (blepharospasm) อาการกระเพาะปัสสาวะไวเกิน (over active bladder) อาการปวดหลังเรื้อรัง (Chronic back pain)ฯลฯ แล้วถ้านำมาใช้ในด้านความงามล่ะคะ โบท็อกซ์จะเหมาะสำหรับใคร?...ซึ่งจริงๆแล้วสารนี้ใช้ได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงคนอายุ 80-90 ปีเลยนะคะ แล้วแต่ว่ามีข้อกังวลหรือมีปัญหาด้านใด หากเป็นวัยรุ่นก็อาจจะมีข้อกังวลในเรื่องของรูปหน้ามากกว่าริ้วรอย นั่นก็คือปัญหากล้ามเนื้อกรามใหญ่ทำให้ใบหน้ากว้าง โบท็อกซ์ก็จะช่วยลดกล้ามเนื้อที่กรามทำให้ใบหน้าดูเรียวลง หากเป็นผู้ที่มีอายุมากขึ้นก็จะมีปัญหาในด้านของริ้วรอยที่เกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อเช่นรอยย่นบริเวณหางตา รอยย่นจากการขมวดคิ้ว หรือรอยย่นที่หน้าผาก ซึ่งกรณีเหล่านี้ก็สามารถใช้โบท็อกซ์เพื่อลดรอยย่นเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัดและพักฟื้น ดูเหมือนว่าทุกคนก็สามารถใช้สารโบท็อกซ์นี้ได้หมดเลยใช่ไหมคะ แต่เดี๋ยวก่อน!! เนื่องจากว่าการออกฤทธิ์ของโบท็อกซ์คือทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และมีพิษต่อระบบประสาท เพราะฉะนั้นคนที่มีปัญหาหรือป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาทผิดปกติ รวมทั้งสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้สารนี้
เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านบทความมาถึงจุดนี้แล้ว ก็พอจะทราบข้อมูลของ “โบท็อกซ์” ไปไม่น้อยเลยนะคะ ต่อไปเรามาคุยกันต่อว่าถ้าไปฉีดโบท็อกซ์แล้วอาจจะพบเจออาการข้างเคียงอะไรได้บ้าง ซึ่งโดยปกติแล้วอาการที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังฉีดโบท็อกซ์คือ อาการบวมปวดบริเวณที่ฉีด รอยช้ำจำเลือด อาการหนังตาตกซึ่งมักจะหายเองภายใน 2 สัปดาห์ และอาการข้างเคียงที่ไม่ได้พบบ่อยมากนัก แต่อาการจะค่อนข้างกระทบกับการทำกิจวัตรประจำวันคือ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนอกเหนือจากบริเวณที่ต้องการ เนื่องมาจากการกระจายของโบท็อกซ์ออกนอกบริเวณที่ต้องการฉีด ซึ่งอาการนี้จะสัมพันธ์กับขนาดยาที่ใช้และเทคนิคการฉีด ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยหากท่านผู้อ่านท่านไหนที่ต้องการฉีดโบท็อกซ์ควรฉีดกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ หลีกเลี่ยงการซื้อมาฉีดเองหรือให้คนรู้จักฉีดให้ และที่สำคัญที่สุดคือต้องใช้โบท็อกซ์ของแท้ซึ่งสามารถตรวจสอบเลขทะเบียนยาได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากสิ่งแปลกปลอม นอกเหนือจากอาการข้างเคียงแล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อจะไปฉีดโบท็อกซ์ก็คือยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดโบท็อกซ์ได้ โดยยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs น้ำมันกระเทียม ใบแป๊ะก๊วย ขิง และโสม เป็นต้น จะมีผลทำให้เกิดฟกช้ำได้ง่ายหลังฉีด โดยสามารถลดโอกาสเกิดอาการฟกช้ำได้โดยการหยุดยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนฉีด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ อย่าหยุดยาเองนะคะให้ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนทุกครั้ง
แล้วถ้าไปฉีดโบท็อกซ์มาแล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไรดีคะ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีและปลอดภัยท่านผู้อ่านทราบกันไหมคะ? อันดับแรกเลย ก่อนฉีดและหลังฉีดควรประคบด้วยความเย็น แต่ห้ามนวดหรือคลึงบริเวณที่ฉีดนะคะ และที่สำคัญห้ามนอนราบหลังฉีด 2-3 ชั่วโมง จากข้อมูลการศึกษาพบว่าโบท็อกซ์จะเริ่มออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงภายใน 2-3 วัน และจะออกฤทธิ์สูงที่สุดภายใน 1-2 สัปดาห์ แล้วฤทธิ์จะอยู่ได้นาน 4-6 เดือน ซึ่งทั้งความแรง ระยะเวลาเริ่มออกฤทธิ์และช่วงเวลาในการออกฤทธิ์ จะแตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อ จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ว่าหากต้องการผลการรักษาที่สม่ำเสมอควรใช้ยี่ห้อเดิมไม่ควรเปลี่ยนยี่ห้อบ่อย และควรฉีดสม่ำเสมอทุก 4-6 เดือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะใช้ยี่ห้อเดิมหรือเปลี่ยนยี่ห้อ หรือจะฉีดบ่อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาพิจารณาเป็นครั้งๆไป เพราะนอกจากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้นแล้วยังมีเรื่องของการดื้อยาด้วย เนื่องจากสารโบท็อกซ์เป็นสารโปรตีน เมื่อถูกฉีดเข้าไปในร่างกายแล้ว ระบบภูมิต้านทานของร่างกายก็จะจดจำและสร้างสารภูมิต้านทานเพื่อมาต้านสารโบท๊อกซ์ ซึ่งสารภูมิต้านทานนั้นจะถูกสร้างมามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดยาที่ได้รับและความถี่ในการฉีด ซึ่งเมื่อเกิดการดื้อยาแล้ว เมื่อฉีดโบท็อกซ์ในขนาดยาที่เท่าเดิม ผลที่ได้ก็จะน้อยกว่าเท่าที่ควร ถ้าต้องการผลเท่าเดิมก็ต้องเพิ่มขนาดยาขึ้น แต่ผลที่ตามมาก็คืออาการข้างเคียงที่สูงขึ้น ซึ่งไม่ปลอดภัยกับผู้ใช้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดหากสนใจที่จะฉีดโบท็อกซ์คือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และรักษากับแพทย์เฉพาะทาง และที่สำคัญใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและถูกกฎหมาย เพื่อความสวยงามและปลอดภัยนะคะ
ปล. หากท่านผู้อ่านท่านใดไม่ทราบว่าจะตรวจสอบยาโบท็อกซ์ว่าขึ้นทะเบียนยาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สามารถอ่านวิธีการตรวจสอบ ได้ที่บทความการตรวจสอบเลขใบอนุญาตได้นะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ
เรียบเรียงโดย
ภญ.เอมมิกา กุลกุศล
วันที่ 29 มิถุนายน 2562
เอกสารอ้างอิง
- สปริงนิวส์ ออนไลน์, “ดีเอสไอจับโบท็อกซ์ปลอม พบเงินหมุนเวียน 800 ล้าน”, view 27 June 2019, https://www.springnews.co.th/crime/510743
- ทีวีพูล ออนไลน์, “พ่อแม่ใจสลาย ลูกสาวนอนโคม่า 5 วัน ก่อนสิ้นใจ หลังฉีดโบท็อกซ์เติมความสวย พบเป็นคลินิกที่มีใบอนุญาต ตำรวจเร่งสอบสวนหาความจริง”, view 27 June 2019, https://social.tvpoolonline.com/news/105366
- ภญ.อ.ดร. ชนกพรหม์ สุคนธ์พันธุ์, “Botulinum neurotoxin ในทางการแพทย์”, View 28 June 2019, http://www.prachanath.su.ac.th/tbps/tbps2005_1/tbps2005_1_107-116.pdf
- ผศ.นพ. วาสนภ วชิรมน, “โบท๊อกซ์ (BOTOX) สารลดริ้วรอยยอดนิยม”, View 28 June 2019, https://med.mahidol.ac.th/atrama/sites/default/files/public/pdf/column/%40Rama18_E04.pdf
- หน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร, “Botulinum toxin จากเชื้อร้าย Clostridium botulinum สู่ความงาม”, View 29 June 2019, http://www.med.cmu.ac.th/dept/nutrition/DATA/COMMON/botox.pdf