issuu
เชื้อไวรัสโคโรน่า (Corona virus) คืออะไร?
เมื่อกล่าวถึงเชื้อไวรัสโคโรน่า (Corona Virus) ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าหลายๆท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกันสักเท่าไหร่ และเมื่อไม่กี่วันมานี้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่ระบาดในเมืองฮู่อั่น ประเทศจีน และยังมีรายงานพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากถิ่นระบาดมีการติดเชื้อนี้ด้วยนั้น เชื่อเหลือเกินว่าหลายๆท่านจะรู้จักคุ้นเคยกับชื่อนี้ และตอนนี้เจ้าเชื้อไวรัสโคโรน่านี้ก็ทำให้ทุกท่านตื่นตระหนกกันอยู่มิใช่น้อย และทุกท่านทราบไหมคะเชื้อไวรัสโคโรน่านี้คืออะไร และเมื่อติดเชื้อโรคตัวนี้จะเป็นอย่างไร ติดต่อกันได้อย่างไร มีอาการอย่างไรที่จะสงสัยเชื้อตัวนี้ และเราจะมีวิธีป้องกันหรือหลีกเลี่ยงโอกาสการได้รับเชื้อได้อย่างไร อยากทราบกันไหมคะ? วันนี้ผู้เขียนขออนุญาตทบทวนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรคตัวนี้ไปพร้อมๆกับท่านผู้อ่านทุกท่านนะคะ เรามาเริ่มกันเลยค่ะ
เชื้อไวรัสโคโรนา (Corona virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single strain RNA virus) ตามการจัดกลุ่มไวรัสตามชนิดของกรดนิวคลิอิกและรูปแบบการจัดเรียงตัว และเชื้อไวรัสตัวนี้จะถูกจัดอยู่ในวงศ์(family) Coronaviridae สกุล (genus) coronaviruses โดยลักษณะรูปร่างอนุภาคของไวรัสชนิดนี้จะมีรูปร่างที่หลากหลาย (pleiomorphism) แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นทรงกลม และที่พิเศษไปกว่านั้นเจ้าไวรัสชนิดนี้จะมีเยื่อหุ้มที่มีลักษณะเป็น spike ยื่นออกไปรอบๆ อนุภาคมองดูคล้ายมงกุฎหรือดวงอาทิตย์ทรงกลด ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเชื้อวงศ์นี้ก็ว่าได้ ลองจินตนาการภาพตามดูนะคะ ว่ารูปร่างของเจ้าไวรัสตัวนี้จะสวยงามขนาดไหน แต่ถึงแม้จะมีรูปร่างสวยงามขนาดไหน ผู้เขียนก็เชื่อเหลือเกินว่าผู้อ่านทุกท่านก็คงไม่อยากพบเจอเจ้าไวรัสตัวนี้ ถูกต้องไหมคะ? คราวนี้เรามาดูกันต่อว่าเจ้าเชื้อไวรัสตัวนี้จะพบเจอได้ที่ไหนและการติดเชื้อมาได้อย่างไร มาต่อกันเลยค่ะ
เชื้อไวรัสโคโรนานั้นสามารถพบได้ทั่วโลก โดยในเขตอบอุ่นมักจะพบเชื้อนี้ในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ และเชื้อไวรัสโคโรนานั้นสามารถติดเชื้อได้ทั้งในคนและในสัตว์ เช่น แมว อูฐ ค้างคาว และเคยเกิดการแพร่จากสัตว์สู่คนด้วยเช่นกัน อย่างก่อนหน้านี้มีอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศทางตะวันออกกลาง (MERS: Middle East Respiratory Syndrome) ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่าเหตุน่าจะเกิดจากการติดเชื้อของอูฐหนอกเดียวและแพร่เชื้อมาสู่คน และโรคซาร์ส (SARS) ก็เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อจากตัวชะมดแล้วแพร่เชื้อมาสู่คน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้นั้น ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดการติดเชื้อมาจากไหน แต่จากรายงานการพบผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนี้มีความสัมพันธ์กับตลาดอาหารทะเลและสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งจากข้อมูลที่มีนั้นก็จะช่วยให้มีการเฝ้าระวังและสวบสวนแหล่งที่มาของเชื้อได้ง่ายขึ้นนั้นเอง
และหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วเชื้อไวรัสโคโรนานั้นมีหลายสายพันธุ์เหลือเกิน โดยสายพันธุ์ที่สามารถติดเชื้อในคนได้นั้นมีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ซึ่งรวมกับสายพันธุ์ล่าสุดด้วย นั่นก็คือสายพันธุ์ 229E, NL63, OC43,HKU1, SARS-CoV, MERS-CoV และ 2019-nCoV ซึ่ง 4 สายพันธุ์แรกนั้นคนทั่วโลกส่วนใหญ่เคยติดเชื้อมาแล้วโดยที่ไม่ได้มีอาการรุนแรงแต่อย่างใด สำหรับอีก 2 สายพันธุ์หลัง (SARS-CoV, MERS-CoV) นั้นเคยเกิดการระบาดและมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว และล่าสุดคือ 2019-nCoV เป็นสายพันธุ์ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้และเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนและมีความรุนแรงของโรคคล้ายๆกับ 2 สายพันธุ์หลัง คราวนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการอะไรที่น่าสงสัยว่าเราจะติดเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเชื้อไวรัสโคโรนานั้นทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้แล้วจะมีทั้งการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการซึ่งพบได้ในทุกอายุ หรือมีอาการเล็กน้อย ไปจนถึงอาการที่รุนแรง ซึ่งครั้งนี้เราจะขอเน้นไปที่การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่อาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงแล้วกันนะคะ ซึ่งอันดับแรกเลยเราก็ต้องมาดูกันก่อนว่าเรามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อนี้ได้หรือไม่ อย่างเช่น เป็น ผู้ที่เคยเดินทางไปที่เมืองอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป และเริ่มมีอาการป่วย (มีไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย) ภายใน 2 อาทิตย์หลังจากกลับมาจากเมืองอู่ฮั่น หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วยของโรคนี้ ถ้าเกิดเรามีความเสี่ยงแล้ว เราก็ต้องสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ เช่น มีไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หากมีอาการรุนแรงก็จะเกิดภาวะปอดอักเสบ การติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส (SARS) ไตวาย หรืออันตรายถึงกระทั่งเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการเล็กน้อยร่วมกับความเสี่ยงควรไปพบแพทย์และแจ้งรายละเอียดความเสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วยนะคะ เพื่อการตรวจคัดกรองที่แม่นยำและการรักษาที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ถ้าหากได้รับเชื้อและมีการตรวจคัดกรองที่ดีและการรักษาที่เหมาะสมก็สามารถหายได้นะคะ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกันเกินไปนะคะ แล้วถ้าเราจำเป็นต้องเดินทางไปในถิ่นที่มีการระบาดหรือมีโอกาสที่จะสัมผัสเชื้อนี้เราจะมีวิธีป้องกันตัวเองอย่างไร ทุกท่านพอจะทราบกันไหมคะ? วันนี้ผู้เขียนขออนุญาตเน้นย้ำการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นด้วยนะคะ มาดูกันเลยค่ะ
อันดับแรก สำหรับท่านที่มีความจำเป็นที่จะเดินทางไปเมืองอู่ฮั่นหรือในถิ่นที่มีการระบาด สิ่งที่ควรปฏิบัติตัวคือ
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีอาการป่วยอยู่
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้ว หลีกเลี่ยงการไปเดินตลาดที่มีการขายสัตว์หรือเนื้อสัตว์ดิบๆ
3.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อยๆ และแต่ละครั้งที่ล้างมือต้องไม่ต่ำกว่า 20 วินาที หรือถ้าไม่มีน้ำหรือสบู่ ให้ใช้แอลกอฮอล์เจลในการทำความสะอาดมือแทน
4.หากผู้เดินทางเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงได้หากเกิดการติดเชื้อไวรัสนี้
ซึ่ง 4 ข้อที่กล่าวไปนั้นจะเป็นการป้องกันสำหรับผู้ที่ยังไม่มีการติดเชื้อ และถ้าหากเราเป็นคนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากเมืองอู่ฮั่นและรู้สึกไม่สบายมีไข้ ไอ หรือหายใจหอบเหนื่อย เราควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้เราและคนรอบข้างเราปลอดภัยหรือลดความรุนแรงของโรค ซึ่งผู้เขียนจะขออธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้ค่ะ
1. ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยก่อนที่จะไปพบแพทย์ที่ห้องตรวจหรือที่ห้องฉุกเฉิน ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนว่าเราเพิ่งเดินทางกลับมาจากเมืองอู่ฮั่นและมีอาการป่วย เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองและแยกโรคที่ถูกต้องและปลอดภัยตามแนวทางการปฏิบัติของแพทย์
2. ท่านควรจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งอื่นๆ
3. งดเที่ยวหรือไปในพื้นที่แออัดในช่วงที่ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
4. เวลาไอหรือจามควรปิดปากและจมูกด้วยทิชชู่ ผ้าเช็ดหน้าหรือแขนเสื้อ ไม่ควรใช้มือเปล่าปิด เพราะมีโอกาสที่เราจะใช้มือที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคไปสัมผัสสิ่งอื่นๆ
5. ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ โดยล้างมือต่อเนื่องนานอย่างน้อย 20 วินาที เน้นจุดสำคัญที่เป็นซอกมือและข้อพับ ถ้าไม่มีน้ำหรือสบู่ ให้ใช้แอลกอฮอล์เจลในการทำความสะอาดมือแทน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อนะคะ
มาถึงตรงนี้แล้วผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาไม่มากก็น้อย และทางผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะสามารถดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัยจากการแพร่กระจายเชื้อนี้ และหวังอย่างยิ่งว่าจำนวนผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อโรคนี้และจำนวนผู้เสียชีวิตจากเชื้อโรคนี้จะลดลงในเร็ววัน และท้ายที่สุดนี้ขอให้ทุกท่านดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อเป็นเกราะป้องกันโรคนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ
เรียบเรียงโดย
เภสัชกรหญิงเอมมิกา กุลกุศล
วันที่ 24 มกราคม 2563
เอกสารอ้างอิง
1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, องค์ความรู้เรื่องโรค ใน คู่มือการปฏิบัติงานป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข, View 23 Jan 2020, http://inderm.go.th/news/myfile/306455836652183ad_mers2.pdf
2. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, องค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่า (Coronaviruses), View 22 Jan 2020, http://www.pidst.or.th/A215.html
3. World Health Organization, Coronavirus, View 22 Jan 2020, https://www.who.int/health-topics/coronavirus
4. World Health Organization, WHO advice for international travel and trade in relation to the outbreak of pneumonia caused by a new coronavirus in China, view 22 Jan 2020
5. Centers for Disease Control and Prevention, First Travel-related Case of 2019 Novel Coronavirus Detected in United States, View 22 Jan 2020, https://www.cdc.gov/media/releases/2020/p0121-novel-coronavirus-travel-case.html
6. Centers for Disease Control and Prevention, Human Coronavirus Types, View 22 Jan 2020, https://www.cdc.gov/coronavirus/types.html
7. Centers for Disease Control and Prevention, 2019 Novel Coronavirus (2019-nCoV) situation summary, Wuhan, China, View 22 Jan 2020, https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-nCoV/summary.html
8. Centers for Disease Control and Prevention, Travel notices: Novel Coronavirus in China, View 22 Jan 2020, https://wwwnc.cdc.gov/travel/notices/watch/novel-coronavirus-china