issuu
โรคลมแดดหรือที่เรียกว่า ฮีทสโตรก คืออะไร
โรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก (Heat-stroke) เป็นภาวะที่มีความรุนแรงที่สุดของโรคที่สัมพันธ์กับความร้อน เป็นโรคที่คุกคามถึงชีวิตเกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นมักสัมพันธ์กับอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ระบบร่างกายจึงพยายามปรับตัวหรือปรับสภาพด้วยกลไกต่าง ๆ ในการควบคุมอุณหภูมิเพื่อพยายามให้ร่างกายอยู่ในสภาวะอุณหภูมิที่ปกติ หากร่างกายได้รับอุณหภูมิสูงเป็นเวลานานเกินไป และระบบการขับเหงื่อออกไม่เพียงพอหรือหยุดทำงาน ทำให้อุณหภูมิภายในของร่างกายสูงขึ้นเลือดจะไหลไปที่ผิวหนังมากขึ้นเพื่อระบายความร้อน ส่งผลให้อวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ตับ ไต ปอดและระบบทางเดินอาหารมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง และเมื่อร่างกายควบคุมอุณหภูมิภายในของร่างกายไม่ได้ ดังนั้นอวัยวะภายในรวมถึงระบบประสาทส่วนกลางก็จะเกิดความผิดปกติ ทำให้ร่างกายเกิดอาการเพ้อคลั่งชัก ระบบการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องล้มเหลวหรืออาการรุนแรงขั้นโคม่าได้
ฉะนั้นการได้รับความร้อนที่สูงขึ้นสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงต่ออวัยวะภายใน และระบบประสาทส่วนกลาง ผลกระทบโดยตรงจากความร้อนอาจรบกวนกระบวนการทำงานของระบบสมองทำให้การสั่งการผิดปกติ จากภาวะขาดน้ำทำให้สมองถูกทำลายอย่างถาวร เกิดภาวะอวัยวะภายในล้มเหลว สมองบวมน้ำเกิดอาการที่รุนแรงถึงขั้นโคม่าและเสียชีวิตในที่สุด
ระบบการทำงานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคลมแดด
ปกติอุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส โดยผ่านกระบวนการควบคุมอุณหภูมิด้วยกลไกต่าง ๆ ของระบบสมองส่วนไฮโปทาลามัส(hypothalamus) เช่น การระเหยกลายเป็นไอทำให้ร่างกายเย็นลง เมื่ออุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิวหนังจะเกิดการขยายตัว ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ผิวหนังและการขับออกของเหงื่อ เมื่อหลอดเลือดในผิวหนังขยายตัวทำให้ปริมาตรของเหลวในหลอดเลือดลดลง ทำให้อวัยวะภายในสูญเสียเกลือแร่และน้ำผ่านเหงื่อส่งผลให้เกิดภาวะขาดน้ำและการสูญเสียเกลือแร่ ซึ่งภาวะเหล่านี้สัมพันธ์กับอาการอ่อนเพลียจากความร้อนและการเกิดตะคริว เว้นแต่มีการเสริมน้ำและเกลือแร่อย่างเหมาะสม การสูญเสียเกลือแร่และน้ำเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ถูกส่งไปยังอวัยวะภายในได้น้อยลง เนื่องจากการไหลเวียนเลือดจากส่วนกลางไปยังผิวหนังและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้อวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องขาดน้ำและเกลือแร่จนเกิดภาวะล้มเหลวในที่สุด
โรคลมแดดเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของร่างกายคือหน่วยของระบบประสาทและหลอดเลือด มีองค์ประกอบดังนี้
- เซลล์หลอดเลือด ได้แก่ เนื้อเยื่อบุโพรงของหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลือง คือผนังเนื้อเยื่อด้านในของหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง ที่เกาะติดบนพนังของหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง, เซลล์กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด
- เซลล์เกลีย (Glial cell) หรือ นิวโรเกลีย (Neuroglia) ได้แก่ แอสโทรไซต์ (Astrocyte) หนึ่งซึ่งพบได้ในระบบประสาทส่วนกลางของสมอง ทำหน้าที่คอยควบคุมปริมาณและชนิดของสารต่าง ๆ ที่จะผ่านเข้าออกเซลล์ประสาท ไมโครเกลีย (Microglia) พบได้ในระบบประสาท ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบประสาทส่วนกลาง คือ ทำหน้าที่เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันในระบบประสาทส่วนกลาง โอลิโกเดนโดรไซต์ทำหน้าที่สร้างเยื่อหุ้มไมอีลิน (Myelin sheath) และแอกซอน (Axon) ของเซลล์ประสาท เพื่อเป็นฉนวนปกป้องการรั่วไหลของกระแสประสาท ช่วยปกป้องใยประสาท และทำให้เกิดการส่งสัญญาณประสาทได้รวดเร็วขึ้น
- เซลล์ประสาท ควบคุมการซึมผ่านของเนื้อเยื่อเลือกผ่านของสมอง การไหลเวียนของเลือดในสมองและรักษาองค์ประกอบทางเคมีของสภาพแวดล้อมของระบบประสาทซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานที่เหมาะสมของวงจรระบบประสาท
เมื่อระบบประสาทเกิดความเครียดจากความร้อนทำให้สมองขาดเลือด เยื่อเลือกผ่านในสมองเกิดการหยุดชะงักในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดการแทรกซึมของสารเข้าไปในช่องว่างนอกเซลล์ของสมอง ส่งผลให้สมองเกิดอาการบวมน้ำ และเซลล์สมองเกิดการบาดเจ็บ แอสโทรไซต์ในฐานะที่เป็นเซลล์ที่มีมากที่สุดในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของสมองให้อยู่ในสภาวะปกติ จึงเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างและการทำงานของเซลล์ประสาทและสื่อสารกับเซลล์ประสาทโอลิโกเดนโดรไซต์ และเนื้อเยื่อบุโพรงของหลอดเลือดและเป็นที่ทราบกันดีว่าหลังจากการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ แอสโทรไซต์จะทำหน้าที่หลายอย่างทั้งที่เป็นอันตรายและเป็นประโยชน์ต่อการอยู่รอดของเซลล์ประสาทในช่วงระยะเฉียบพลัน อย่างไรก็ตามบทบาทของแอสโทรไซต์ในเยื่อเลือกผ่านของสมอง กลไกที่เกิดจากความเครียดจากความร้อนและความเสียหายของสมองยังไม่ทราบหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด เพราะการเปลี่ยนแปลงของเซลล์และโมเลกุลของแต่ละองค์ประกอบนั้นมีความซับซ้อน
อาการแสดงของโรคลมแดด
เมื่อร่างกายสัมผัสกับความเครียดจากความร้อน (คลื่นความร้อน ฤดูร้อน และ/หรือออกกำลังกายอย่างหนัก) อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่า 40°C และมีอาการผิดปกติของระบบประสาท ส่วนกลาง เช่น หน้าแดง ตัวแดง สับสน ซึม ผิวหนังแห้งและร้อน คลื่นไส้ ความดันต่ำ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เป็นต้น
ความรุนแรงของโรคลมแดด
พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคลมแดดมีอัตราการตายสูง จากสถิติในช่วงเหตุการณ์คลื่นความร้อนปี 2546 ในยุโรปพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 30,000 ราย ในปีพ.ศ.2522-2546 ประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตประมาณ 8,015 ราย และในปี พ.ศ.2558 ประเทศอินเดียมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,200 ราย เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2538 ถึง 4 เท่า จากข้อมูลของกรมอนามัยประเทศไทยพบอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคจากความร้อนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในช่วงปี พ.ศ. 2553-2556 อัตราป่วยเพิ่มขึ้นจาก 1.76 ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ.2553 เป็น 4.24 ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ.2556 ซึ่งอัตราป่วยจะสูงสุดในเดือนเมษายนและพฤศจิกายนเกือบทุกปี โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งสัมพันธ์กับฤดูร้อนของประเทศ
กลุ่มเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดโรคลมแดด
โรคลมแดด เป็นผลมาจากการสัมผัสกับอุณหภูมิจากสิ่งแวดล้อมที่สูงเป็นเวลานาน หรือจากการออกกำลังกายที่ใช้พลังงานหนักและนานเกินไป ภาวะโลกร้อนทำให้คลื่นความร้อนในภูมิอากาศเย็นลงและภัยคุกคามจากความร้อนเพิ่มขึ้น กลุ่มเสี่ยงที่สัมพันธ์ต่อการเกิดโรคได้แก่
- เด็ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้อยู่โดดเดี่ยว
- เกษตรกร
- คนงานก่อสร้าง
- ตำรวจจราจร ทหาร
- คนยากจน
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ออกำลังกายกลางแจ้ง
- บุคคลทีทำงานกลางแจ้ง
- พนักงานรักษาความปลอดภัยกลางแจ้ง
- นักท่องเที่ยว เป็นต้น
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรค เบาหวานความดันโลหิตสูง โรคหัวใจโรคไต โรคสมองและโรคพิษสุราเรื้อรัง
ยาบางชนิดมีผลต่อการเกิดโรคลมแดด
สำหรับบางคนที่มีโรคประจำตัวและจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมหรือรักษาอาการเจ็บป่วยของตนอยู่ ยาบางชนิดอาจมีผลส่งเสริมหรือเหนี่ยวนำให้เกิดโรคลมแดดได้ หากร่างกายสัมผัสกับความร้อนซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีดังนี้
- เปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองและหลอดเลือดส่งผลในการออกฤทธิ์ระงับการขับเหงื่อ ซึ่งปกติกลไกการขับเหงื่อช่วยระบายความร้อนโดยการระเหยของเหงื่อ เพื่อระบายความร้อนเมื่อยามีผลทำให้การระบายเหงื่อลดลง ส่งผลทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ยาที่มีผลดังกล่าวได้แก่ ยาแก้ปวดเกร็งช่องท้อง แก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก ยากันชักเช่น โทพิราเมท (Topiramate) เป็นต้น
- เปลี่ยนแปลงศูนย์ควบคุมอุณหภูมิส่วนกลาง ซึ่งส่งผลต่อการตอบสนองของอวัยวะและพฤติกรรม เช่น ยานอนหลับ ยารักษาโรคทางจิต เป็นต้น
- ยาที่ใช้ควบคุมโรคความดันโลหิตสูงกลุ่มที่มีผลเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต และเลือดที่ไหลออกจากหัวใจด้วยกลไกขยายหลอดเลือดแดงเพื่อลดความดัน เมื่อหลอดเลือดขยายตัวจะส่งผลต่อการระบายความร้อนผ่านการขยายตัวของหลอดเลือด หรือเพิ่มอาการเวียนศีรษะและเป็นลมหมดสติ
- เปลี่ยนแปลงการทำงานของไตและสมดุลของเกลือแร่ ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำและพิษจากยา หรือได้รับน้ำเกินหรือการเสียสมดุลของเกลือแร่ยาบางชนิด ได้แก่ ยาความดันบางชนิด ยาแก้ปวดลดการอักเสบ เป็นต้น
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของระบบทางเดินอาหารและลำไส้ จากการศึกษาและวิจัยพบว่าความร้อนที่สูงขึ้นส่งผลต่อการบาดเจ็บของอวัยวะภายในเช่นระบบทางเดินอาหาร ยาบางชนิดได้แก่ ยากลุ่มแก้ปวดลดการอักเสบข้อและกล้ามเนื้อ ฉะนั้นหากเรารับประทานยาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการบาดเจ็บของอวัยวะดังกล่าวได้
ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถึงวิธีการป้องกันและการปฏิบัติตัวระหว่างที่ต้องใช้ยาเพื่อควบคุมโรคที่เป็นอยู่อย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เนื่องจากโรคบางชนิดไม่แนะนำให้หยุดการใช้ยาได้เองเพราะเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคได้ เป็นต้น
การจัดการเมื่อเกิดโรคลมแดด
เมื่อร่างกายได้รับความร้อนจนส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องผิดปกติไป การระบายความร้อนอย่างรวดเร็วตามด้วยการติดตามอุณหภูมิอย่างใกล้ชิดเป็นวิธีการเบื้องต้นที่ช่วยได้มากที่สุด หากพบผู้ป่วยให้ปฏิบัติดังนี้
- พาผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีความเย็น เช่น ใต้ต้นไม้ ห้องปรับอากาศ หรือห้องที่มีการระบายความร้อนได้ดี
- พิจารณาคลายหรือถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยตามความเหมาะสม เช่นเสื้อผ้าที่หนาและรัดแน่นเกินไป
- กรณีผู้ป่วยยังมีสติให้ดื่มน้ำเย็นหรือเกลือแร่ 1-2 แก้วทันที
- แช่เท้าผู้ป่วยด้วยน้ำเย็น เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็นให้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ คอ รักแร้ หน้าขา เป็นต้น
- ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาและติดตามอาการต่อไป
คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการป้องกันผลกระทบจากความร้อน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศร้อน การอยู่กลางที่แจ้งหรืออยู่บริเวณที่มีอุณหภูมิสูงมาก หากเป็นไปได้ควรอยู่ในห้องปรับอากาศ เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้องสมุด ห้องพัก หรือใต้ต้นไม้ที่มีความชุ่มชื่นในวันที่มีภาวะแวดล้อมของอากาศที่สูงผิดปกติ
- การจำกัดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงกลางวัน
- การบริโภคของเหลว น้ำหรือเกลือแร่ที่เพียงพอ วันละ 8-10 แก้วต่อวันถ้าอยู่ในพื้นที่ร่มและอุณหภูมิไม่สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส แต่ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสความร้อนหรือทำงานกลางแจ้งที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ควรรับประทานน้ำ 1-2 ลิตรต่อชั่วโมง เป็นต้น
- การสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนและหลวมกระชับระบายอากาศได้ง่าย
- หากมีความจำเป็นในการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพราะยาบางชนิดมีผลข้างเคียงของยาที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ การขับเหงื่อลดลง อัตราการเต้นของหัวใจลดลงได้
- ไม่ควรทิ้งเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีความบกพร่องหรือมีโรคประจำตัวไว้ในรถยนต์
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชากาแฟ ( เครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีน ) หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงในสภาวะแวดล้อมอากาศที่ร้อนจัด
- สังเกตลักษณะสีปัสสาวะหากมีสีเหลืองเข้ม อาจบ่งบอกได้ว่าร่างกายมีภาวะเสียเหงื่อ เสียน้ำ แนะนำดื่มน้ำมาก ๆ และถ้ามีอาการปวดกล้ามเนื้อเมื่อยล้าร่างกายดูอ่อนเพลียควรละลายน้ำเกลือแร่ดื่มชดเชย
- ติดตามการรายงานข่าวการเตือนภัยการปฏิบัติตัวจากหน่วยงานราชการอยู่เสมอ และควรมีหมายเลขโทรศัพท์ สถานพยาบาลในพื้นที่ในกรณีที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น 1669
- ถ้ามีอาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคลมแดด เช่น ปากคอแห้ง อ่อนเพลีย ควรดื่มน้ำเกลือแร่ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลง โดยอาจเข้าไปอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ใต้ร่มไม้ที่มีความชุ่มชื้น และดื่มน้ำเย็น 1-2 แก้ว ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวโดยเฉพาะข้อพับตงๆของร่างกาย หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์
หากชีวิตประจำวันจำเป็นต้องอยู่ในที่มีอากาศร้อนควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- ทำกิจกรรมนอกบ้านเฉพาะช่วงเช้าและเย็นหลังหมดแสงแดด
- หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยาแก้ปวดเกร็งช่องท้อง ยาแก้ปวดลดการอักเสบ โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายกลางแจ้งหรือเมื่อต้องอยู่ในอากาศร้อนเป็นเวลานาน
- หากเป็นนักกีฬาที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอควรออกกำลังกายในโรงยิมที่มีการติดเครื่องปรับอากาศ หรือมีการถ่ายเทอากาศได้ดี หรือภายในอาคารที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และดื่มน้ำสะอาด 1-2 ลิตร ทุก ๆ 1 ชั่วโมงหรือเกลือแร่บ่อย ๆ 2-4 แก้ว ทุก ๆ 1 ชั่วโมงเพื่อชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไป
- หากรู้สึกเพลียและร้อนมากพยายามพักในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกเป็นระยะ ๆ
- ป้องป้องตัวเองจากการปะทะแสงแดดโดยตรง ด้วยการใส่หมวกปีกกว้าง สวมแว่นกันแดด รวมทั้งทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 50 ขึ้นไป
เรียบเรียงโดย
ภก.กุญชร เหรียญทอง
3 พฤษภาคม 2562
อ้างอิง
- Bing N, Tao Z, Huaiqiang H, and Bingzhen C. Transcriptome Sequencing Reveals Astrocytes as a Therapeutic Target in Heat-Stroke. Neurosci Bull. 2017 Dec; 33(6): 627–640.
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่ 3 กุมภาพันธ์2560. http://hia.anamai.moph.go.th/download/hia/manual/book/book50-1.pdf. 25/04/2562.
- Gerald N, Shauna M, Delisha A, Mark L, Wimal W, et al. Pretreatment with indomethacin results in increased heat stroke severity during recovery in a rodent model of heat stroke. J Appl Physiol (1985). 2017 Sep 1; 123(3): 544–557.
- Chang CY, Chen JY, Chen SH, Cheng TJ, Lin MT, et al. Therapeutic treatment with ascorbate rescues mice from heat stroke-induced death by attenuating systemic inflammatory response and hypothalamic neuronal damage.
- Larissa KL, Adaira L, Susi UV, and Robert S.H. Ice water submersion for rapid cooling in severe drug-induced hyperthermia. Clin Toxicol (Phila). 2015 Mar; 53(3): 181–184.
- Djani DM, and Draper WE. Suspected phenobarbital-induced fever in a cat. JFMS Open Rep. 2019 Feb 18;5(1):2055116919830214.
- Canel L, Zisimopoulou S, Besson M and Nendaz M. Topiramate-induced severe heatstroke in an adult patient: a case report. J Med Case Rep. 2016 Apr 13;10:95.
- Mørch SS, Andersen JD, and Bestle MH. Treatment of hyperthermia. Ugeskr Laeger. 2017 Jul 24;179(30).
- Demartini JK, Casa DJ, Stearns R, Belval L, Crago A, Davis R, and Jardine J. Effectiveness of cold water immersion in the treatment of exertional heat stroke at the Falmouth Road Race. Med Sci Sports Exerc. 2015 Feb; 47(2):240-5.
- Yuri H, Takashi N, and Manabu H. Inconsistency in the Standard of Care–Toward Evidence-Based Management of Exertional Heat Stroke. Published online 2019 Feb 18.
- Toru H, Yutaka K, Keiki S, and Yasufumi M. Heat stroke. J Intensive Care. 2018; 6: 30. Published online 2018 May 22.