issuu
การตรวจสอบเลขใบอนุญาตยา อาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอางค์
หลายท่านคงเคยได้ยินข่าว อย. ร่วมกับตำรวจบุกจับโรงงานผลิตสินค้าเถื่อน อย.บุกจับอาหารเสริมเถื่อน หรือครีมเถื่อน ทำให้เวลาเราจะไปซื้อของแต่ละทีก็จะต้องพลิกดูว่ามีเครื่องหมาย อย. ไหม หรือถามคนขายว่ามี อย.ไหม ของจริงใช่ไหม เคยเป็นกันไหมคะ จริงๆแล้วผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละประเภทก็จะมีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องแตกต่างกัน วันนี้เราจะมาดูพร้อมกันว่า ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่ขออนุญาตถูกต้องแล้วจะต้องแสดงสัญลักษณ์หรืองเครื่องหมายอย่างไร และเราสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นของจริงมีการขึ้นทะเบียนแล้ว
มาเริ่มผลิตภัณฑ์ประเภทแรกกันเลยค่ะ ผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ว่าจะเป็นขนม นม น้ำผลไม้ รวมถึงอาหารเสริม ก็ถือว่าอยู่ในหมวดของผลิตภัณฑ์อาหารตามกฏหมายกำหนดเช่นกัน เมื่อผู้ผลิตขอขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้วได้รับอนุญาต ก็จะได้เลขสารบบอาหาร ประกอบด้วยตัวเลข 13 หลัก ซึ่งเป็นรหัสลับของ อย. เพื่อใช้ในการติดตามหลักสินค้าออกสู่ตลาด โดยเลข สารบบอาหารนี้จะอยู่ในเครื่องหมาย อย. ซึ่งเครื่องหมายนี้บ่งบอกว่าสินค้าชนิดนี้ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องแล้ว แต่ไม่ได้ยืนยันว่าสินค้านี้จะมีสรรพคุณเหมือนที่มีการโฆษณาอวดอ้าง ฉะนั้นหากได้ยินโฆษณาอวดอ้างอาหารเสริมก็อย่าเพิ่งหลงเชื่อกันนะคะ
ผลิตภัณฑ์ประเภทที่สอง ผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการศึกษาทดลองมาแล้วว่ามีสรรพคุณรักษา เปลี่ยนแปลง บรรเทา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้ ซึ่งเมื่อดูที่ฉลากจะไม่มีเครื่องหมาย อย. แต่จะมีเป็นเลขทะเบียนตำรับยาแทน โดยมักใช้คำว่า Reg. no. หรือ เลขทะเบียนที่ หรือทะเบียนยา โดยจะมีลักษณะเป็นชุดตัวเลขและตัวอักษรภาษาอังกฤษหนึ่งตัวอักษร ปัจจุบันเป็นตัวอักษร A-F และตามตัวเลขเครื่องหมายทับ (/)ตัวเลข เช่น 2C 1/40 นอกจากเลขทะเบียนยาแล้ว ตามกฎหมายยังกำหนดให้ระบุประเภทของยาไว้ที่ฉลากด้วย เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ยาอันตราย ยาใช้เฉพาะที่ ฉะนั้นเวลาไปซื้อยาก็ให้ดูที่เลขทะเบียนยา ไม่ต้องมองหาเครื่องหมาย อย. นะคะ
ผลิตภัณฑ์ถัดมาคือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นแป้ง ครีม โลชั่น ลิปสติก โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สินค้าเหล่านี้จะอยู่ในหมวดของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และมีสินค้าอีกหลายประเภทที่จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นจะไม่มีเครื่องหมาย อย. เช่นกัน แต่จะมีเลขที่ใบรับแจ้ง ซึ่งจะเป็นตัวเลข 10 หลัก โดยการรับจดแจ้งนี้เป็นการจดแจ้งที่ทางผู้ผลิตยื่นข้อมูลส่วนประกอบและปริมาณที่ใส่เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบส่วนผสมในผลิตภัณฑ์นั้นโดยตรง เพราะฉะนั้นเครื่องสำอางที่มีเลขใบรับแจ้งแล้วบางรายการอาจจะไม่ปลอดภัย หรืออาจจะมีสารต้องห้ามที่ผู้ผลิตเติมลงไปโดยไม่แจ้งก็เป็นได้ ฉะนั้นหากใช้เครื่องสำอางชิ้นไหนแล้วเกิดอาการแพ้ควรหยุดทันที
คราวนี้ทุกท่านก็พอจะทราบแล้วว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันมีสัญลักษณ์การขึ้นทะเบียนที่แตกต่างกันอย่างไร ทีนี้เรามาตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์เหล่านี้กันค่ะ สมัยนี้เทคโนโลยีทำให้เราสามารถเข้าถึงอะไรได้ง่ายขึ้น ทาง อย. เขาก็มีเว็บไซต์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานได้ง่ายๆ เพียงเข้าไปที่หน้าเว็บไซด์ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx แล้วกรอกชื่อการค้าหรือตัวเลขที่ขึ้นทะเบียนของแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์แล้วกดค้นหาเพียงเท่านี้ก็จะได้ข้อมูลที่มีการขึ้นทะเบียน หรือหาก URL ของเว็บไซด์จำยากไป สามารถหาง่ายๆจากการพิมพ์คำค้นหาใน Google ว่า ตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ เท่านี้ก็จะเจอเป็นตัวแรกของหน้าค้นหาเลยทีเดียว ทีนี้เวลาเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เราไม่มั่นใจว่าได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องหรือไม่ เราก็สามารถหาข้อมูล ได้เลยเพียงมี smartphone และอินเตอร์เน็ต เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายแถมยังๆไม่ถูกหลอกอีกด้วย แล้วอย่าลืมนำไปใช้กันนะคะ ไว้เจอกันใหม่บทความหน้าค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- สุขอนันต์ เบิกบาน, “ฉลากอาหาร” บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด, View 24 Nov 2018, https://db.oryor.com/databank/data/printing//530729_Factsheet__ฉลากอาหาร_บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด_700.pdf
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, คู่มือประชาชนฉบับผู้บริโภค, View 24 Nov 2018,
http://www.fda.moph.go.th/Shared%20Documents/คู่มือประชาชน/คู่มือประชาชน%20ฉบับผู้บริโภค.pdf
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ตรวจสอบการอนุญาต, View 25 Nov 2018, http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx
- ดร.สุนัดดา โยมญาติ, เครื่องสำอางสวยอย่างปลอดภัย, View 24 Nov 2018,< http://biology.ipst.ac.th/?p=3446>
เรียบเรียงโดย
เภสัชกรหญิงเอมมิกา กุลกุศล
26 พฤศจิกายน 2561