issuu
ยาที่ทำให้เกิดท้องผูก
เคยเป็นไหมคะ? อยู่ดีๆก็ถ่ายยาก อยู่ดีๆก็ไม่อยากถ่าย บางท่านอาจมีอาการแค่วันเดียวก็รู้สึกว่าร่างกายผิดปกติ บางท่านมีอาการต่อเนื่องติดกันหลายวัน บางท่านคิดว่าตัวเองมีปัญหาท้องผูก แต่ความเป็นจริงแล้วจะมีสักกี่คนที่มีปัญหาท้องผูกจริงๆ ซึ่งวันนี้ทางยาแอนด์ยูจะพาทุกท่านมารู้จักกับความหมายของภาวะท้องผูกที่ใช้ในทางการแพทย์ในปัจจุบัน สาเหตุที่ทำให้ท้องผูก การปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการท้องผูก และอาการที่ควรไปพบแพทย์
มาเริ่มกันด้วยอาการที่แพทย์จะใช้ในการวินิจฉัยภาวะท้องผูก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วภาวะท้องผูกจะหมายถึงความผิดปกติของความถี่และความลำบากในการขับถ่ายหากมีอาการที่จะกล่าวต่อไปนี้ตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไปและเป็นติดต่อกันมานานกว่า 3 เดือน โดยเริ่มมีอาการครั้งแรกมานานกว่า 6 เดิอน ก็จะถือว่ามีปัญหาท้องผูก ซึ่งอาการจะมีดังต่อไปนี้
- ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติถึงจะถ่ายออกมาได้
- อุจจาระมีลักษณะแข็ง
- รู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุด
- รู้สึกเหมือนมีอะไรอุดกั้นตรงทวารหนักทำให้ถ่ายไม่ออก
- ต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระ
หลังจากที่ทราบถึงเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะท้องผูกแล้ว สิ่งที่เราควรรู้เพิ่มเติมคือมีสิ่งใดบ้างที่ทำให้เกิดภาวะท้องผูกขึ้นได้ เพื่อที่จะได้จัดการปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งภาวะท้องผูกนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นภาวะการเจ็บป่วย เช่น โรคเบาหวาน, โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ, ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง หรือโรคพาร์กินสันที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท นอกจากนี้ยังมีโรคความผิดปกติทางลำไส้หรือทางเดินอาหารอื่นๆที่ทำให้เกิดท้องผูกได้เช่นกัน และนอกจากภาวะเจ็บป่วยแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็มีผลทำให้ท้องผูกได้ อย่างเช่น ผู้ป่วยเคลื่อนไหวน้อยหรือไม่ได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เส้นใยน้อย ดื่มน้ำน้อย หรือมีนิสัยการขับถ่ายที่ไม่ดี และอีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดท้องผูกได้ นั่นก็คือยาในการรักษาโรค ซึ่งอาการท้องผูกจากยาจะเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาในขนาดที่ใช้ในการรักษาโรคนั้นๆ และอาการท้องผูกมักจะสัมพันธ์กับขนาดยาที่ได้รับ โดยกลุ่มยาที่มีรายงานว่าทำให้เกิดภาวะท้องผูกได้ มีดังนี้
- ยาบรรเทาปวด มีทั้งยากลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น morphine, codeine และยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ เช่น ibuprofen, diclofenac
- ยาที่มีฤทธิ์ anticholinergic ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่ใช้รักษาหลายโรคไม่ว่าจะเป็น ยาต้านซึมเศร้า เช่น amitriptyline, fluoxetine, ยารักษาโรคจิตเภท เช่น chlopromazine thioridazine clozapine haloperidol, ยารักษาโรคพาร์กินสัน เช่น benzatropine bromocriptine, ยาต้านฮิสตามีนหรือที่เรามักคุ้นหูในชื่อยาแก้แพ้ เช่น diphenhydramine brompheniramine chlorpheniramine, ยาต้านการหดเกร็งกล้ามเนื้อ เช่น Dicyclomine mebeverine
- ยาที่ใช้รักษาโรคลมชัก เช่น phenobarbital, phenytoin, carbamazepine, Valproate
- ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียมและอะลูมิเนียม เช่น aluminium hydroxide calcium carbonate ซึ่งยาลดกรดเหล่านี้มักผสมด้วย magnesium hydroxide เพื่อช่วยลดการเกิดภาวะท้องผูก เนื่องจากแมกนีเซียมมีฤทธิ์เป็นยาระบาย นอกจากนี้ยังมียาที่ใช้ลดกรดและรักษาท้องเสียที่มีส่วนผสมของ bismuth ก็ทำให้เกิดทัองผูกได้เช่นกัน
- ยาที่มีธาตุเหล็ก เช่น ferrous sulphate
- ยาเคมีบำบัด เช่น vincristine vinblastin cyclophosphamide
- ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น verapamil nifedipine furozemide clonidine atenolol
- ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น amiodarone
- ยาเรซิ่นดักจับกรดน้ำดี เช่น colestyramine colestipol
- ยาต้านตัวรับซีโรโทนิน เช่น ondansetron ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาและป้องกันอาการอาเจียน
- ยาระบาย เช่น การใช้ยาระบายชนิดกระตุ้นลำไส้ที่นานเกินทำให้ลำไส้สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวหรือการบีบตัว-คลายตัว หรือการใช้ยาระบายชนิดกากใยที่เยอะเกินแล้วดื่มน้ำไม่เพียงพอ
โดยส่วนใหญ่ยาเหล่านี้จะมีกลไกที่ทำให้เกิดภาวะท้องผูกได้ผ่าน 2 กลไกใหญ่ๆคือ ลดการเคลื่อนไหวหรือการบีบตัวของลำไส้ และเพิ่มการดูดซึมน้ำและเกลือแร่จากลำไส้ มีผลทำให้อุจจาระอยู่ในทางเดินอาหารนานขึ้นและอุจจาระแข็งขึ้น
เมื่อเกิดภาวะท้องผูก สิ่งที่ควรปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อลดความรุนแรงหรือบรรเทาภาวะท้องผูกก็คือ
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เช่น ผักใบเขียว ลูกพรุน มะเดื่อฝรั่ง ผลกีวี
- ดื่มน้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอ เนื่องจากหากร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่จะเพิ่มการดูดกลับน้ำและเกลือแร่จากลำไส้ ทำให้อุจจาระแข็งขึ้น
- เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ฝึกวินัยในการขับถ่าย และตอบสนองกับความรู้สึกอยากถ่ายครั้งแรกในทันที หมายถึงถ้ารู้สึกอยากถ่ายอุจจาระควรรีบไปขับถ่ายอุจจาระ เพราะถ้าหากกลั้นไว้หรือเมินเฉย สัญญาณขับถ่ายที่ร่างกายส่งมาในครั้งต่อๆไปจะอ่อนลง
แต่ถ้าหากท่านมีอาการท้องผูกและมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบไปแพทย์ เช่น
- มีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก
- 2.ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
- น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ท้องผูกร่วมกับมีอาการปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องผูกรบกวนมาก รับประทานยาระบายแล้วไม่ดีขึ้น
มาถึงตรงนี้แล้วหลายๆท่านคงกังวลว่าจะเกิดอาการท้องผูกไหม ยาที่รับประทานอยู่จะทำให้ท้องผูกไหม หรือกังวลใจว่ายาที่ใช้อยู่มีรายงานว่าทำให้ท้องผูกจะหยุดรับประทานยาดีไหม ซึ่งทางผู้เขียนขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่ายารักษาโรคเรื้อรังที่แพทย์สั่งจ่ายนั้นไม่ควรหยุดรับประทานหรือปรับขนาดยาเองโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ หากรับประทานแล้วเกิดอาการที่ผิดปกติ โดยเป็นผลที่สอดคล้องกับการรับประทานยาให้ท่านปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีและปลอดภัย แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ
เอกสารอ้างอิง
1.รศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์. ท้องผูก(Constipation). สมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว(ไทย). View 7 Nov 2018. <http://www.thaimotility.or.th/files/10.%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B8%81.pdf>
2. Branch RL. and Butt TF, "Drug-induced constipation",Adverse drug reaction bulletin, 2009 August; 257:987-990. View 10 Nov 2018. <https://journals.lww.com/adversedrugreactbull/Abstract/2009/08000/Drug_induced_constipation.1.aspx>
3. ผศ.นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร. ภาวะท้องผูก ใครว่าแก้ไม่ได้?. View 7 Nov 2018. <http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-45>
เรียบเรียงโดย
เภสัชกรหญิงเอมมิกา กุลกุศล
16 พ.ย. 2561