issuu
สาระน่ารู้กับครีมกันแดด
เชื่อว่าหลายๆท่าน คงจะรู้จักหรือได้ยินคำว่า "ครีมกันแดด " หรือ "sunscreen" กันมานานพอสมควร ทีนี้ถ้าหากมีใครสักคนมาถามท่านว่า จะซื้อครีมกันแดดสักชิ้นหนึ่งมาใช้จะเลือกอย่างไรดี หรือจะซื้อครีมกันแดดสักชิ้นจะต้องดูอะไรบ้าง บางครั้งเราอาจจะไม่สามารถตอบได้ชัดเจน วันนี้ทาง "ยาแอนด์ยู" เราจึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับครีมกันแดดในด้านความรู้เบื้องต้นไว้สำหรับการเลือกซื้อครีมกันแดดที่เหมาะกับสภาพผิว เหมาะสมกับกิจกรรม รวมถึงคำศัพท์และสัญลักษณ์ที่ท่านมักพบเจอบนฉลากของครีมกันแดดหรือเครื่องสำอางทั่วไป
ก่อนอื่นเรามารื้อความรู้เกี่ยวกับครีมกันแดด หรือ sunscreen กันสักเล็กน้อย โดยทั่วไปแล้วครีมกันแดดที่มีขายตามท้องตลาดจะมี 2 ประเภท คือ physical sunscreen (ครีมกันแดดชนิดกายภาพ) ครีมกันแดดชนิดนี้จะปกป้องผิวจากรังสียูวีในแสงแดด โดยใช้การสะท้อนรังสียูวีไม่ให้เข้าไปเจอผิว ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ chemical sunscreen (ครีมกันแดดชนิดเคมี) ครีมกันแดดประเภทนี้จะปกป้องผิวโดยดูดซับรังสียูวีไว้ที่สารกันแดดนั้นก่อนที่รังสียูวีจะผ่านเข้าไปเจอผิว ซึ่งครีมกันแดดที่เป็น chemical sunscreen จะมีหลายชนิด และชื่อจดจำได้ยาก จึงขออนุญาตไม่กล่าวถึงในที่นี้
คราวนี้มาดูกันว่าในครีมกันแดดมีคำศัพท์อะไรที่ท่านสามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจได้บ้าง คำแรก "SPF" คำนี้ย่อมาจาก Sun protection factor เป็นค่าที่ใช้แสดงถึงประสิทธิภาพของครีมในการปกป้องผิวจากการถูกแดดเผา ซึ่งครีมกันแดดที่มีค่า SPF ที่สูงกว่าก็จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงยูวีได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้ค่า SPF นี้ได้มาจากการวัดการปกป้องผิวจากรังสียูวี บี เท่านั้น ดังนั้นจึงมักใช้ค่า SPF ในการบ่งบอกประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกันรังสียูวี บี ซึ่งค่านี้เป็นสัดส่วนระหว่างปริมาณของรังสียูวีที่สามารถทำให้ผิวไหม้แดงได้หลังจากใช้ครีมกันแดดเทียบกับผิวที่ไม่ได้ใช้ครีมกันแดด จะเห็นว่าค่านี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเวลาในการสัมผัสกับแสงยูวี ดังนั้นการที่คนทั่วไปเข้าใจว่าใช้ครีมกันแดด SPF สูงแล้วออกแดดได้นานโดยไม่ทาครีมซ้ำนั้นไม่ถูกต้อง คำที่สองที่ท่านควรรู้จักก็คือคำว่า "PA" คำนี้จะตามมาติดๆกับคำว่า SPF ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คำว่า "PA" ย่อมาจากคำว่า Protection grade of UVA ซึ่งเป็นค่าที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศญี่ปุ่นกำหนดขึ้น โดยบนฉลากครีมกันแดดจะแสดงด้วยคำว่า PA ตามด้วยสัญลักษณ์ "+" ถ้าหลังจากคำว่า PA มีสัญลักษณ์ + มาก หมายถึงประสิทธิภาพในการป้องกันแสงยูวีเอสูง (PA+++ ) อีกหนึ่งคำที่มักจะพบเจอบนฉลากได้ก็คือคำว่า "broad spectrum" ซึ่งหมายความว่าครีมกันแดดนี้สามารถปกป้องผิวได้ทั้งจากยูวีเอและยูวีบี นอกจากคำที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งคำที่ถือว่าเป็นคำสำคัญสำหรับท่านที่ต้องการครีมกันแดดสำหรับกิจกรรมทางน้ำ นั่นก็คือคำว่า " water-resistant" ซึ่งหมายความว่า หากท่านทาครีมกันแดดชนิดนี้แล้วว่ายน้ำหรืออยู่ในน้ำครีมกันแดดจะติดอยู่ที่ผิวได้นาน 40 นาที และอีกคำที่คล้ายกันคือ "very water resistance" ซึ่งสื่อความหมายว่า ครีมกันแดดนี้จะติดผิวได้นาน 80 นาทีเมื่อทาครีมชนิดนี้แล้วว่ายน้ำหรืออยู่ในน้ำ
หากทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลองหยิบครีมกันแดดที่ท่านใช้อยู่ขึ้นมาดูแล้วลองพิจารณาว่าครีมกันแดดที่ท่านใช้อยู่มีคำศัพท์เหล่านี้หรือไม่ แต่เดี๋ยวก่อน!!! นอกจากคำศัพท์ที่กล่าวไปแล้วนั้น หากท่านลองหมุนรอบๆขวด จะสังเกตเห็นว่ามีสัญลักษณ์อีกหลายอย่างที่ถูกพิมพ์ติดไว้กับบรรจุภัณฑ์ครีมพวกนี้ แล้วท่านทราบหรือไม่ว่าสัญลักษณ์เหล่านั้นสื่อความหมายถึงอะไร
วันนี้ทางยาแอนด์ยู จะขอรวบรวมสัญลักษณ์ที่พบบ่อยบนบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางเหล่านี้ มาแชร์ให้ฟัง มาเริ่มกันเลย!!!
|
สัญลักษณ์นี้มีชื่อเรียกว่า period after opening (PAO) จะมีลักษณะเป็นรูปกระปุกครีมที่กำลังถูกเปิดฝาอยู่และมีตัวเลขกำกับตามด้วยตัว"M" ซึ่งสัญลักษณ์นี้จะสื่อให้ทราบว่า หากเปิดใช้ครั้งแรกแล้วให้ท่านนับเวลาการใช้ครีมนี้ไปจนครบจำนวนตัวเลขเดือนที่กำหนดบนสัญลักษณ์ (ตัว "M" แทนความหมาย "เดือน") เช่น 3M คือเปิดใช้ครั้งแรกแล้วนับไปจนครบ 3 เดือน หากครบเดือนที่กำหนดแล้วครีมที่เหลืออาจเสื่อมคุณภาพ ฉะนั้นเวลาเลือกซื้อดูสัญลักษณ์นี้ก่อนเพื่อพิจารณาว่าจะซื้อแบบกระปุกเล็กหรือใหญ่เพื่อความคุ้มค่าและปลอดภัย
|
สัญลักษณ์นี้เรียกว่า Best before end of date หรือ BBE สัญลักษณ์จะเป็นรูปนาฬิกาทราย สื่อให้ทราบว่าครีมนี้จะคงสภาพอยู่ได้อีกกี่เดือนหรือปีหลังจากวันผลิต ซึ่งก็คือวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์นั่นเอง อาจจะบันทึกเป็นตัวอักษร BBE หรือ Exp. ก็ได้ความหมายเช่นเดียวกัน
|
|
สัญลักษณ์นี้เรียกว่า e-mark เป็นสัญลักษณ์รูปอักษรภาษาอังกฤษตัวอีพิมพ์เล็ก แล้วตามด้วยตัวเลขและหน่วยวัดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งสัญลักษณ์นี้บ่งบอกถึงน้ำหนักสุทธิของครีมนั้นๆ โดยไม่รวมน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์
|
|
สัญลักษณ์รูปเปลวไฟ หรือ open flame เป็นสัญลักษณ์ที่เตือนว่า ผลิตภัณฑ์นี้ติดไฟได้ ควรระวังการจัดเก็บอย่าใกล้เปลวไฟ หรือที่ที่มีความร้อนสูงซึ่งก่อให้เกิดเปลวไฟได้
|
|
สัญลักษณ์มือชี้หนังสือ หรือ refer to insert นี้จะบ่งบอกถึงข้อมูลหรือวิธีใช้สามารถอ่านได้ในเอกสารกำกับ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ระบุไว้ที่ฉลาก |
มาถึงตรงนี้แล้วเชื่อว่าหลายๆท่านน่าจะสังเกตเห็นว่ามีสัญลักษณ์หลายๆอย่างอยู่บนบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางที่ท่านใช้อยู่และตอนนี้ท่านสามารถตีความจากสัญลักษณ์เหล่านั้นได้บางส่วนแล้ว และสิ่งที่สำคัญมากกว่าสัญลักษณ์เหล่านี้คืออย่าลืมหมั่นสังเกตครีมหรือเครื่องสำอางที่ใช้อยู่มีลักษณะสี กลิ่น หรือความข้นหนืดที่เปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ที่ท่านใช้อยู่อาจเสื่อมคุณภาพก่อนเวลาก็เป็นได้
และแล้วทางผู้เขียนก็ได้พาทุกท่านมาถึงหัวข้อสุดท้ายกันแล้วนั่นก็คือ เราจะเลือกครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะกับผิว และจะทาครีมกันแดดอย่างไรให้ได้ผลปกป้องดีที่สุด โดยหลักเกณฑ์ในการเลือกครีมกันแดดก็จะมีการแบ่งกลุ่มผิว ดังนี้
1. ผิวเด็ก ครีมกันแดดที่ปลอดภัยกับผิวเด็ก หรือผิวที่แพ้ง่ายจะเป็นชนิด physical sunscreen ซึ่งท่านจะสังเกตได้จากฉลากมีคำว่า physical sunscreen หรือดูจากส่วนประกอบหลัก ซึ่งสารกันแดดที่เป็น physical จะมีอยู่ 2 ชื่อที่นิยมใช้กันคือ titanium dioxide และ zinc oxide แต่ถ้าหากเห็นชื่อสาร PABA และ oxybenzone อยู่ด้วย ท่านควรระมัดระวังการใช้ในผิวเด็กหรือผิวที่แพ้ง่าย เนื่องจากสาร 2 รายการหลังนี้จะเป็นสารกันแดดชนิด chemical อาจจะพบในผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อที่ใช้สารกันแดดทั้ง physical และ chemical ร่วมกันเพื่อเสริมประสิทธิภาพกัน ซึ่งสารกันแดด chemical สองรายการนี้มีโอกาสทำให้เกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้ง่าย
2. ผิวที่เสี่ยงต่อการแพ้ หรือสิว กลุ่มผิวเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่มีน้ำหอม (fragrances) สารกันเสีย (preservative) และสารกันแดด PABA กับ Oxybenzone เช่นเดียวกับผิวเด็ก ครีมกันแดดที่เหมาะสมก็จะเป็นชนิด physical sunscreen สำหรับผิวที่แพ้ระคายเคืองง่าย ควรจะหลีกเลี่ยงครีมที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งท่านสามารถสังเกตครีมที่เหมาะสำหรับผิวที่แพ้ระคายเคืองง่ายได้จากฉลาก จะมีคำว่า "sensitive", "fragrance-free หรือ perfume free", "paraben free" สำหรับผิวที่เสี่ยงเป็นสิวง่ายก็จะสังเกตคำว่า "non-comedogenic" บนฉลาก และหลีกเลี่ยงครีมที่มันเยิ้ม สังเกตที่ฉลากจะเขียนว่า "non-greasy" ซึ่งก็คือครีมนี้ไม่ทำให้มันเยิ้ม
3. ผิวแห้ง สำหรับท่านที่มีสภาพผิวแห้งนั้น ควรจะเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ซึ่งสารให้ความชุ่มชื่นที่นิยมใช้ในครีมกันแดดที่ท่านสามารถสังเกตจากฉลากได้ ก็คือ lanolin, oils, dimethicone และครีมกันแดดที่มีสารให้ความชุ่มชื้นกับผิวมักจะอยู่ในรูปแบบของครีม โลชั่น หรือขี้ผึ้ง (ointments)
4.ผิวที่มีฝ้ากระ ผิวที่เคยเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือผิวที่ขาวมากๆ ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มี spfไม่น้อยกว่า spf30
5. ผิวสีเข้ม สำหรับท่านที่มีผิวสีเข้มก็จำเป็นที่ต้องใช้ครีมกันแดดเช่นกัน เนื่องจากรังสียูวีไม่ได้แค่ทำให้ผิวหมองคล้ำแต่มีผลเสียถึงระดับโครงสร้างผิว ซึ่งคนผิวสีเข้มก็ต้องระวังการใช้ physical sunscreen โดยเฉพาะที่เป็น titanium-base เพราะเวลาทาครีมกันแดดที่เป็น titanium-base แล้วโดนแสงผิวจะออกสีขาวๆเทาๆ ทำให้เสียความมั่นใจไปเลยทีเดียว ทางเลือกที่ดีสำหรับคนผิวสีเข้มก็คือ chemical sunscreen และควรเลือกที่เป็น broad spectrum ที่มี spf15 ขึ้นไป สำหรับท่านใดที่มีผิวสีเข้มและผิวเสี่ยงต่อการแพ้ง่ายอย่าเพิ่งกังวลใจ เพราะตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาผิวเทาๆจาก titanium อยู่นั่นก็คือ micronized titanium dioxide ซึ่งเป็น physical sunscreen ที่ถูกคิดค้นและปรับเปลี่ยนขนาดของสาร titanium ให้มีขนาดเล็กลงมาก จนสามารถกลืนกับสีผิว ไม่ทิ้งรอยขาวเทาให้ช้ำใจอีกต่อไป
หลังจากทราบแล้วว่าควรเลือกใช้ครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะกับผิว แล้วควรใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพปกป้องผิวที่ดีที่สุด โดยทั่วไปแล้วประสิทธิภาพของครีมกันแดดก็มีปัจจัยหลายๆอย่างที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง ไม่ว่าจะเป็นเหงื่อ ลม ความชื้น หรือจะเป็นวิธีการทาครีมก็ตาม เพราะฉะนั้นเวลาจะทาครีมกันแดดต้องทาให้ทั่วผิว เทครีมกันแดดมาทาอย่างน้อยประมาณ 1 ออนซ์ โดยทาก่อนจะออกไปเจอแสงแดดอย่างน้อย 20 นาที และทาซ้ำอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมงหรือทุกครั้งที่ขึ้นจากสระน้ำหรือทุกครั้งที่เหงื่อออกเยอะ และนอกจากจะใช้ครีมกันแดดแล้วทุกท่านก็อย่าลืมพกร่ม หมวก หรือเสื้อคลุมที่ช่วยป้องกันแสงแดด เพื่อเพิ่มการปกป้องผิวจากแสงแดดให้ดียิ่งขึ้นและเพื่อสุขภาพผิวที่ดี แล้วมาพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ
เอกสารอ้างอิง
1. Ritu Saini and Andrea Szemplinski. How to choose the right sunscreen for your skin types. View 4 Nov 2018 <https://www.skincancer.org/prevention/sun-protection/sunscreen/choosing>
2. U.S. FDA. Sunscreen:How to help protect yous skin from the sun. View 4 Nov 2018. <https://www.fda.gov/Drugs/ResourcesForYou/Consumers/BuyingUsingMedicineSafely/UnderstandingOver-the-CounterMedicines/ucm239463.htm>
3. M.S. Latha, Jacintha Martis and Naveen Kumar.A review: Sunscreening Agents. The Journal of Clinical and Aesthetic Dermatology. View 4 Nov 2018. <https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3543289/>
4. Skin cancer foundation. How to read a sunscreen label. View 4 Nov 2018. <https://www.skincancer.org/publications/sun-and-skin-news/summer-2015-32-3/sunscreen>
5. Consolidated label company. What symbols on cosmetic labels mean. View 4 Nov 2018. <https://www.consolidatedlabel.com/label-articles/what-symbols-on-cosmetic-labels-mean/>
6. NIOSH fast facts:Protecting yourself from sun exposure. View 4 Nov 2018. <https://www.cdc.gov/niosh/docs/2010-116/>
7.ราชกิจจานุเบกษา.ประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด ของเครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด พ.ศ. 2560. View 4 Nov 2018. <http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/272/10.PDF>
เรียบเรียงโดย
ภญ.เอมมิกา กุลกุศล
6 พฤศจิกายน 2561