issuu
ห้องมัลติมีเดีย
ยาตัวนี้มีประโยชน์ในการช่วยควบคุมน้ำหนัก แต่อีกมุมหนึ่งยานี้สามารถให้ผู้ที่ใช้ยาบางรายเสียชีวิตได้ พวกเราจึงต้องควรทราบและทำความรู้จักกับยาตัวนี้ เพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัย
ยาไซบูทรามีน (sibutramine) เคยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาควบคุมโรคอ้วน ร่วมกับการควบคุมอาหาร เดิมยานี้ได้จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ห้ามซื้อขายในร้านยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ แต่ยานี้ได้รับการถอนทะเบียนตำรับยาในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถขายใดๆได้ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือร้านยาหรือสถานที่ใดก็ตาม แต่เนื่องด้วยปัจจุบันมีการลักลอบนำสารไซบูททรามีน มาเจือปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อหวังลดน้ำหนัก ทำให้วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 องค์การอาหารและยาได้กำหนดให้ ไซบูทรามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ซึ่งตามความหมายตามพระราชบัญญัติ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2559 คือ ห้ามผู้ใดผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่ได้รับใบอนญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางราชการ ซึ่ง อย. ได้ยกระดับการจัดการคือ ผู้ใดที่นำไซบูทรามีนไปผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีน จะมีโทษจำคุก และปรับเงินเป็นจำนวนหลักแสนถึงล้านบาท
ยานี้ส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักได้อย่างไร?
ยานี้ออกฤทธิ์ไปส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ให้มีความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น และกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย แต่จากการที่ยานี้ไปส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมองชนิดที่ส่งผลต่อความดันโลหิตในร่างกายได้ด้วย จึงทำให้ผู้ป่วยที่ทานยาดังกล่าว มีความดันโลหิตสูงขึ้นตามมาด้วย และสามารถนำไปสู่ภาวะโรคหัวใจตามมา นอกจากนั้นมีรายงานการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจตายเฉียบพลัน ในหลายคนทั่วโลก จากข้อเสียดังกล่าวทำให้บริษัทและองค์การอาหารและยาของประเทศไทยและต่างประเทศได้ถอนทะเบียน และไม่ให้จำหน่ายในทุกช่องทาง
อาการอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากได้รับยาไซบูทรามีนนี้?
อาการที่ต้องระวังหากได้รับยาไซบูทรามีน คือ ความดันโลหิตสูงขึ้นผิดปกติ อัตราการเต้นของหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาการบ่งชี้ของภาวะโรคหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น ผู้ที่มีภาวะโรคหัวใจร่วมด้วย จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นได้ นอกจากนั้นอาจจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปากแห้ง หิวน้ำบ่อย ไม่สบายท้อง ท้องผูก คลื่นไส้ หรืออาเจียน ปวดหลังปวดข้อ เป็นต้น หากท่านหรือคนรอบข้างมีอาการดังกล่าวจากยาไม่ทราบชนิดเพื่อลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน แนะนำให้หยุดยาและนำยาที่สงสัยดังกล่าวไปพบแพทย์และเภสัชกรทันที
เอกสารอ้างอิง
1. Micromedex® solutions [Database on the internet]. Colorado: Truven Health Analytics Inc; c-2018 DRUGDEX®, [cites 2018 May 25]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com
2. James WPT, Caterson DI, Coutinho W, Finer N, Van Gaal LF, Maggioni AP, et al. Effect of Sibutramine on Cardiovascular Outcomes in Overweight and Obese Subjects. N Engl J Med 2010;363:905-17.
3. European Medicines Agency recommends suspension of marketing authorisations for sibutramine Weight-loss medicine associated with increased risk of cardiovascular events to be removed from all markets in the European Union. European Medicines Agency. 21 January 2010.
4. การจัดการความเสี่ยงของยา Sibutramine. ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. ฉบับที่ 7/2553 วันที่ 15 ตุลาคม 2553.
5. http://www.fda.moph.go.th/Lists/News/AllItems.aspx
6. พระราชบัญญัติ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559. กองควบคุมวัตถุเสพติด. [cites 2018 Jun 23]. Available from: http://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/Laws/PRB59_VJ_201259.pdf