issuu
ยามีข้อดีมากมายในการรักษา บรรเทาอาการของโรคต่างๆได้ แต่ยังมีข้อควรระวัง ข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางกลุ่มด้วย แม้กระทั้งยาหยอดตาบางชนิด ก็อาจจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต้อหินได้เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น
ผู้ป่วยที่อาการระคายเคืองตา ตาแดง และได้รับยาตาเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของ naphazoline ยานี้ทำหน้าที่หลอดเลือดในตาหดตัวลง ทำให้ลดอาการ บวม ระคายเคือง ตาแดงได้ รวมถึงยาหยอดตาที่มี สเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบด้วย สามารถบรรเทาอาการคัน ระคายเคืองตาได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ตามยาดังกล่าวมีผลทำให้เกิดภาวะต้อหินได้ในผู้ป่วยบางรายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ เพศหญิง มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน
นอกจากยาตาดังกล่าวแล้ว ยังมียาชนิดรับประทานบางชนิดในกลุ่มยาต่างๆต่อไปนี้ เช่น ยารักษาโรคหืด ยาลดการหลั่งกรด ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาช่วยให้นอนหลับ ยาขับปัสสาวะลดความดันโลหิตสูง ยารักษาไมเกรน หรือแม้กระทั่งการใช้โบท๊อกซ์ จาก botulinum toxin มีการรายงานการเกิดต้อหินเช่นกัน
แต่ท่านไม่ต้องกลัวการเกิดภาวะต้อหินจากการใช้ยาดังกล่าวเกินไป หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าท่านมีความจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคเรื้อรังดังกล่าว และได้รับประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงของการใช้ยา รวมถึงหากท่านไม่มีข้อห้ามใช้ยา เพราะโรคเรื้อรังมีความจำเป็นต้องรักษาเช่นกัน แพทย์จะให้ท่านมาติดตามอาการเป็นระยะ ควรมาพบแพทย์ตามนัด
สิ่งสำคัญคือการไม่ซื้อยารับประทานหรือใช้เอง และหากจำเป็นต้องใช้ แจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งว่าเคยใช้ยาใดๆอยู่ และมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ไม่ว่าจะพบแพทย์เพื่อรักษาโรคใดๆ ณ สถานพยาบาลหรือคลินิกหรือร้านยาใดๆก็ตาม เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของตัวท่านเอง ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคต้อหิน จะมีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ของยา กลุ่มดังกล่าวข้างต้นด้วย
แม้ว่าท่านไม่มีประวัติและความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อหินดังข้างต้น แต่หากใช้ยาแล้วพบอาการตาแดงร่วมกับอาการปวดตา ตามัวลง หรือร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาได้ทันท่วงที และควรตรวจตาประจำปี เพื่อทราบความเสี่ยง การป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที
หากท่านได้รับยาใดๆ ไปแล้ว เกิดอาการผิดปกติใดๆ และไม่แน่ใจว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือไม่ แนะนำให้อ่านเอกสารกำกับยา หรือท่านสามารถสืบค้นข้อมูลยาได้ในเว็บไซด์ yaandyou (http://www.yaandyou.net) ที่อธิบายอาการไม่พึงประสงค์ทั่วไป และอาการรุนแรงที่ต้องรีบไปพบแพทย์ได้ สามารถเข้าถึงได้ใน mobile application ได้เช่นกัน หากมีข้อสงสัยโปรดปรึกษาแพทย์และเภสัชกร
เอกสารอ้างอิง
1. Ah-kee EY, et al. A review of drug-induced acute angle closure glaucoma for non-ophthalmologists. Qatar Med J. 2015; 2015(1): 6.
2. Tsai J-C. Acute angle closure following periorbital botulinum toxin injection in a patient with retinitis pigmentosa. Taiwan J Ophthalmol. 2017 Apr-Jun; 7(2): 104–107.