issuu
การซื้อยาร้านยารับประทานเองในโรคทั่วไป เช่น น้ำมูกไหล แก้คัดจมูก ไอ จาม ปวดศีรษะ ไข้สูง หรือปวดกล้ามเนื้อ และในหลายๆครั้งการซื้อยาทานเอง ท่านก็อาจจะบอกว่าสามารถบรรเทาอาการต่างๆได้ และไปทำงานได้ตามปกติ
แต่เมื่ออาการหนักขึ้น ยาที่เคยซื้อมารับประทานเองไม่สามารถช่วยได้ จึงไปพบแพทย์ภายหลัง และบางท่านอาจจะไม่กล้าแจ้งแพทย์ว่าไปซื้อยาทานเองแล้ว กลัวจะโดยตำหนิ แต่ในทางกลับกันอาจจะเป็นผลเสียได้มากมาย ขอยกตัวอย่างดังนี้
• กรณีซื้อยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะ มีความสำคัญต่อการสั่งใช้ยาของแพทย์ หากท่านเคยมีประวัติใช้ยาปฏิชีวนะตัวใดมาก่อน ขนาดยาเท่าไร ระยะเวลานานเท่าไร นั้นมีผลต่อการเลือกยาและการตัดสินใจการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคนได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสในปัจจุบันมีรายงานการดื้อยาสูงขึ้นมาก หากท่านไม่แจ้งประวัติการใช้ยาในอดีต หรือการซื้อยาเอง อาจจะทำให้การรักษาล่าช้าลงไปได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะทานเอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร
• กรณีซื้อยาบรรเทาอาการหวัด แก้คัดจมูก ที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในเยื่อจมูกหดตัว อาการบวมเยื่อบุจมูกลดลงทำให้อาการคัดจมูกลดลง แต่ยานี้ยังสามารถทำให้หลอดเลือดหดตัวในร่างกายด้วย ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ดังนั้นยาแก้คัดจมูกนี้ต้องระวังยาตีกันกับยาลดความดันโลหิต ซึ่งออกฤทธิ์ขยายตัวของหลอดเลือด ที่ใช้ในโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง การใช้ยาแก้คัดจมูกในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆนี้ อาจจะทำให้ภาวะโรคเรื้อรังของท่านกำเริบได้ หากแพทย์ไม่ทราบประวัติการใช้ยาในอดีต การพิจารณาการรักษาสาเหตุและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ทำได้ลำบากขึ้น
• กรณีซื้อยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ ยานี้เป็นยาบรรเทาอาการปวดเท่านั้น ยานี้หากใช้ในระยะเวลานาน อาจจะส่งผลให้เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือไตวายเฉียบพลันได้ หากท่านมีอาการปวดกล้ามเนื้อบ่อยครั้ง เป็นเรื้อรังควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุรักษาและป้องกันที่ถูกต้อง และควรแจ้งแพทย์และเภสัชกร ว่าท่านเคยใช้ยาใดมาก่อนเพื่อป้องกันการจ่ายยาซ้ำซ้อน
• กรณีซื้อยาคลายกล้ามเนื้อ รับประทานเองนั้น ยาบางชนิดเป็นยาสูตรผสม คือมียา 2 ชนิดใน 1 เม็ด บางชนิดมียาพาราเซตามอลผสมอยู่ด้วย ซึ่งหากท่านไม่ทราบและไม่ได้แจ้งแพทย์ว่าท่านใช้ยาใดอยู่ก่อนแล้ว แพทย์อาจจะสั่งยาที่มีพาราเซตามอลผสมให้ท่านเพิ่มเติม ท่านอาจจะได้รับยาพาราเซตามอลนั้นเกินขนาด นำไปสู่พิษต่อตับได้ แต่หากท่านแจ้งแพทย์หรือเภสัชกร พวกเราจะช่วยเลือกยาให้เหมาะสมกับท่านต่อไป
กรณีต่างๆ ด้านบน เป็นตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกหลายกรณี ดังนั้นอยากให้ท่านไม่ต้องกังวลคุณหมอหรือเภสัชกรจะตำหนิใดๆ เพื่อให้ท่านปลอดภัย ได้รับยาที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมในการรักษาโรค หากท่านจำไม่ได้ว่าเคยใช้ยาตัวใดไปบ้าง ท่านควรนำยาและซองยาที่ท่านเคยรับประทานมาให้แพทย์และเภสัชกรที่รักษาด้วยเสมอ ไม่ว่ายา สมุนไพร อาหารเสริมที่รักษาโรค บรรเทาอาการ ใดๆ จากแหล่งใดก็ตาม และสิ่งที่เหมาะสมที่สุดคือ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร
หากท่านได้รับยาใดๆ ไปแล้ว จำผลข้างเคียงหรือข้อแนะนำสำคัญของยานั้นๆได้ แนะนำให้อ่านเอกสารกำกับยา หรือท่านสามารถสืบค้นข้อมูลยาได้ในเว็บไซด์ yaandyou (http://www.yaandyou.net) ที่อธิบายข้อแนะนำสำคัญของยาได้ สามารถเข้าถึงได้ใน mobile application ได้เช่นกัน หากมีข้อสงสัยโปรดปรึกษาแพทย์และเภสัชกร
เอกสารอ้างอิง: National Institute of Health, Department of Medical Sciences [cited 2018 Feb 26]. Available at: http://narst.dmsc.moph.go.th/.