issuu
ยาแก้ปวดหัวไมเกรนมีหลายชนิด แต่ยาชนิดหนึ่งต้องระวังอย่างยิ่งเรื่องยาตีกัน (การใช้ยาร่วมกันมากกว่า 2 ตัวขึ้นไป ซึ่งยาตัวหนึ่งส่งผลต่อการเพิ่มฤทธิ์หรือลดฤทธิ์ยาอีกตัวหนึ่งได้ ซึ่งนำไปสู่อาการข้างเคียงจากยาได้)
วันนี้มาทำความรู้จักกับยาแก้ปวดหัวไมเกรน ชื่อสามัญทางยา ergotamine (เออร์โกทามีน) หรือ ergot (เออร์กอต) ยานี้มีหลายชื่อการค้า ยานี้เป็นยาบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้ดี แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยไมเกรนบางราย ให้ใช้เฉพาะเวลาปวดเท่านั้น ยานี้ช่วยให้หลอดเลือดที่กะโหลกศีรษะที่เป็นตัวการของอาการไมเกรนนั้นหดตัวลงจึงทำให้อาการปวดศีรษะลดลงได้
แต่ด้วยฤทธิ์ยาทำให้หลอดเลือดหดตัว ดังนั้นหากได้รับยาอื่นๆ ที่ตีกันกับยา ergot ด้วย จะส่งผลให้ยา ergot ออกฤทธิ์มากขึ้น จนผลกระทบต่อหลอดเลือดอื่นๆในร่างกายด้วย
ดังนั้นหากท่านปวดหัวไมเกรน และได้รับยา ergot มารับประทานท่านต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่าได้รับยาอะไรอยู่เป็นประจำ ไม่ว่ายาใดๆก็ตาม! เพื่อป้องกันยาตีกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากท่านที่มีโรคประจำตัว และได้รับยารักษาเชื้อไวรัสเอดส์ ยารักษาเชื้อรา ยาต้านอาการซึมเศร้า ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ยาปฏิชีวนะบางชนิด (ยาฆ่าเชื้อ) ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ท่านอาจจะไม่สามารถใช้ยา ergot ได้
อาการมือ เท้าชา เป็นอาการเริ่มต้นของยาตีกันในผู้ที่ได้รับยา ergot ร่วมกับยาดังกล่าวข้างต้น ทำให้ยา ergot ออกฤทธิ์มากขึ้น จึงส่งผลต่อหลอดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น หากเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงแขน ขาได้ จะเริ่มแสดงอาการที่อาการชาปลายมือ ปลายเท้า หากเป็นมากอาจจะมีอาการมือเท้าเย็น เขียว ปวดได้ ซึ่งเป็นอันตราย และอาจจะนำไปสู่ความจำเป็นต้องตัดแขน หรือขาได้ บางรายหากทิ้งไว้อาจจะส่งผลต่อการเสียชีวิต ตามมา
หากท่านไม่ได้รับยารักษาไมเกรน ergot และมีอาการปลายมือ เท้าชา อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ให้ท่านปรึกษาแพทย์
แต่สิ่งที่สำคัญคือ นี้เป็นเพียงตัวอย่างของยาตีกัน นอกจากยานี้ยังมียาอีกหลายตัวที่อาจจะต้องระวังยาตีกันด้วย ดังนั้นไม่แนะนำให้ซื้อยารับประทานเอง และหากจำเป็นต้องต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรพร้อมแจ้งประวัติการใช้ยาประจำทั้งหมดเสมอ อย่ากลัวหรือกังวลที่จะบอกประวัติการใช้ยา เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง
หากท่านมีข้อสงสัยเรื่องยาที่ท่านใช้อยู่จะตีกันกับยาใดบ้าง ต้องเฝ้าระวังอะไรบ้างหลังใช้ยา ท่านสามารถสืบค้นข้อมูลยาเบื้องต้นได้จากเว็บไซด์ yaandyou ตามลิงค์ต่อไปนี้ (http://yaandyou.net/) พวกเราเภสัชกรยินดีให้คำแนะนำ
เอกสารอ้างอิง
MICROMEDEX® [Database on the internet]. Colorado: Thomson Reuters (Healthcare); c2017. DRUGDEX® System, Ergotamine tartate; [Cited 2017 May 26].
นพพล ทักษอุดม. รายงานผู้ป่วย: ภาวะ Ergotism ในผู้ป่วย HIV ที่ได้รับยาต้านไวรัสกลุ่ม protease inhibitor หลังจากไดรับยา Ergotamine tartate ในขนาดต่ำ.เชียงใหม่เวชสาร 2557;53(1):45-51.