issuu
หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเวลาที่เรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” แล้วต้องกินติดต่อจนหมด มันมีความจำเป็นขนาดไหน? อย่างไร? หรือทำไม? และอีกสารพันปัญหาข้อสงสัย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากนำความเข้าใจที่ถูกต้องของหลักการพื้นฐานทางเภสัชศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องแล้วจะพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดกันไปอย่างมากเลยทีเดียว
ทั้งนี้ต้องขอเรียนอธิบายให้ผู้อ่านทราบก่อนในเรื่องของคำว่า “อักเสบ” ในความหมายของภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจกัน นั้นมีความหมายที่แตกต่างไปมากโขกับหลักการทางการแพทย์เลยทีเดียวครับเพราะคนธรรมดามักเข้าใจกันว่าหากพูดถึงคำว่า “อักเสบ” นั้น หมายถึงการติดเชื้อโรคเช่น เจ็บคอ คอแดง คออักเสบ เป็นต้น
ทว่าในทางการแพทย์ “การอักเสบ” จะถูกเรียกด้วยภาษาที่อ่านค่อนข้างยากสักเล็กน้อยครับว่า “Inflammation” (อ่านว่า อิน-แฟลม-เม-ชั่น) ซึ่งเจ้ากระบวนการอักเสบนี้ถือได้ว่าเป็นกลไกป้องกันตนเองที่สำคัญของร่างกายจากเชื้อโรคผู้บุรุกภายนอก ทั้งยังใช้ในการกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติในร่างกาย รวมไปถึงการกระตุ้นให้เกิดการสมานแผลและการเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เพื่อให้เราหลีกเลี่ยงและห่างไกลจากบริเวณที่มีสารที่ทำให้เราเกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งตามทฤษฎีทางการแพทย์นั้นหากแบ่งการอักเสบตามประเภทของสาเหตุการเกิดจะสามารถแบ่งได้เป็น
1. การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ (Microbial Induce Inflammation) : การอักเสบชนิดนี้เป็นการตอบสนองต่อร่างกายเพื่อต่อต้านเชื้อโรคร้ายที่บุกรุกเข้าสู่ร่างกายของเรา เช่น การที่เรามีไข้ เกิดหนองบริเวณที่เป็นบาดแผล หรือภายในลำคออักเสบบวมแดงเวลาเจ็บคอ ซึ่งหลายๆผู้อ่านหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับอาการแบบนี้ เพราะเวลาไปพบคุณหมอตอนไม่สบายทีไรท่านจะสั่งให้อ้าปากกว้างๆแล้วร้อง อา........เป็นเสียงยาวๆเพื่อตรวจดูการอักเสบในลำคอของเรานั่นเอง
2. การอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ (Sterile Inflammation): การอักเสบชนิดนี้อาจดูแปลกประหลาดหรือไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไหร่กับท่านผู้อ่าน แต่หากพูดถึง “กล้ามเนื้ออักเสบ” ผู้อ่านหลายๆท่านคงร้อง อ๋อ !เลยทีเดียวเพราะผมเชื่อว่าเราทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ขาพลิกขาแพลงมาบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ (ยิ่งโดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่นิยมใส่ร้องเท้าส้นสูง ส้นตึกทั้งหลายที่น่าจะเคย “ตกตึก” กันมาบ้างสมัยที่รองเท้าชนิดนี้เป็นที่นิยม) อันที่จริงแล้วการอักเสบแบบนี้ก็มีอยู่หลายชนิดครับเช่น การปวดตามข้อหรือกระดูกของผู้ป่วยโรคเกาท์หรือรูมาตอยด์ ตลอดจนการสูดดมสารเคมีที่เป็นพิษ เป็นต้น
จากการแบ่งชนิดของกระบวนการอักเสบดังกล่าวมาจะเห็นได้ว่าหากท่านผู้อ่านไปพบแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อขอยาแก้อักเสบมารับประทานท่านก็จะได้ยาคนละแบบกัน โดยที่การอักเสบแบบแรกท่านจะได้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะที่เภสัชกรจะย้ำกับท่านทุกครั้งว่าต้องรับประทานติดต่อจนยาหมดเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อโรคดื้อยา (นี่ก็เป็นอีกคำที่น่าขยายความครับ สัญญาว่าผมจะนำมาเขียนให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันอย่างแน่นอน) ในขณะที่หากท่านป่วยด้วยการอักเสบแบบที่สอง ท่านก็มักได้รับยา “แก้ปวดลดอักเสบ”หรือ และยาคลายกล้ามเนื้อมารับประทาน ซึ่งยาในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องรับประทานติดต่อจนยาหมด อีกทั้งยังมีอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการรับประทานอีกมากมายเช่น อาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นขอย้ำกับท่านกับท่านผู้อ่านเลยครับว่าสำหรับยาแก้อักเสบกลุ่มนี้เมื่อท่านหายปวดท่านก็ไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่ต้องรับประทานติดต่อกันจนยาหมดครับ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านคงได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมในการรับประทานยาอย่างถูกต้องนะครับว่า “ยาแก้อักเสบ” ไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่องจนยาหมดเสมอไปครับ สุดท้ายนี้ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านสุขภาพแข็งแรงกันโดยถ้วนหน้ารับหน้าหนาวที่กำลังจะมาเยือนนะครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Chen, G. Y., Nunez, G. (2010) Sterile inflammation: sensing and reacting to damage, Nature Review/Immunology,10, 826 -837
2. Braunwald E., Fauci A.,S., Kasper D.,L., Hauser S.,L., Longo D., L. & Jameson J.,L.,(2001). Harrison’s Principle of internal medicine (15th ed.). USA:McGraw-Hill
เรียบเรียงโดย
เภสัชกรศรายุทธ ทัฬหิกรณ์
มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา