issuu
-
- อาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา: การแพ้ยาและผลข้างเคียงของยา
(Adverse Drug Reactions [ADR]: drug allergies and side effects)
อาจารย์ ภญ. อินทิรา กาญจนพิบูลย์
- แพ้ยาคืออะไร อาการข้างเคียงคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
- ต้องทำอย่างไรหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
- แพ้ยาคืออะไร อาการข้างเคียงคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
- ในการใช้ยาแต่ละครั้ง สิ่งที่เราต้องการคือผลการรักษาจากยาที่ต้องการใช้รักษาโรคหรือบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ เช่น ยาลดความดันโลหิต จะมีผลช่วยลดความดันโลหิตของร่างกายให้ต่ำลง หรือยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก จะมีผลช่วยลดอาการแพ้และช่วยต้านสารฮีสตามีน เป็นผลให้น้ำมูกลดลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากผลของการรักษาที่เราต้องการแล้ว การใช้ยาแต่ละอย่างก็ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากแถมมาด้วยเช่นกัน โดยทั่วไป เวลาที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาใดๆ ก็ตาม ผู้ใช้ยามักจะเรียกอาการเหล่านั้นรวมๆ กันว่าเป็น “การแพ้ยา” แต่แท้ที่จริงแล้วเมื่อกล่าวถึงอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ในทางวิชาการจะครอบคลุมทั้งสิ่งที่เรียกว่า “การแพ้ยา” และ “ผลข้างเคียงของยา” ซึ่งอาการทั้งสองแบบนี้จะมีความแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
- การแพ้ยา (drug allergy or drug hypersensitivity) เป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในลักษณะหนึ่ง ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้ที่ใช้ยาคนใดจะเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น และอาการเหล่านี้พบได้ในผู้ที่ใช้ยาบางรายเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการที่ตัวยาไปกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองเป็นอาการแพ้ อาจก่อให้เกิดการทำลายเซลบางชนิดของร่างกาย หรือกลไกอื่นๆ โดยอาการเหล่านี้มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป บางอย่างมีความรุนแรงมาก เช่น ทำให้ผู้ใช้ยาถึงขั้นช็อก (shock) เนื่องจากหลอดลมบวมและตีบเกร็งจนไม่สามารถหายใจได้ ที่เรียกว่าแอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis) เช่น อาการพี่พบในผู้ที่แพ้ยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบในกลุ่มเพนนิซิลลิน (penicillin) บางอย่างก่อให้เกิด อาการสตีเวน-จอห์นสัน (Stevens-Johnson Syndrome: SJS) ที่ปรากฎอาการปากไหม้พอง หรืออาการผิวหนังถูกทำลาย (Toxic Epidermal Necrolysis: TEN) ที่พบในผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มซัลฟา (Sulfa drugs) บางราย เป็นต้น ในขณะที่อาการแพ้ยาบางชนิดที่พบ ก็อาจไม่รุนแรงมากนัก เช่น อาจเกิดเพียงอาการผื่นคันที่ผิวหนัง หรืออาการอื่นๆ เพียงเล็กน้อยไม่รุนแรง นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ของระยะเวลาในการเกิดอาการแพ้ยาหลังจากใช้ยา บางครั้งก็อาจเกิดอาการขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงหลังจากได้รับยา แต่บางครั้งอาการก็อาจเกิดขึ้นภายหลังได้รับยาเป็นระยะเวลานานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และบางครั้งอาการแพ้ยาก็อาจเกิดขึ้นในการใช้ยาครั้งแรก บางครั้งการแพ้ยาก็อาจเกิดขึ้นในครั้งหลังๆ ของการได้รับยา นอกจากนี้ เมื่อผู้ป่วยแพ้ยาตัวใดแล้ว ก็อาจมีโอกาสที่จะแพ้ยาตัวอื่นในกลุ่มยาเดียวกัน ยาตัวอื่นบางตัวที่โครงสร้างทางเคมีของยาที่คล้ายกันกับยาตัวที่แพ้ หรือยาอื่นบางตัวที่เกิดการแพ้ยาข้ามกันได้ ซึ่งผู้ใช้ยาก็ต้องระมัดระวังการใช้ยาทั้งยาตัวที่แพ้โดยตรงและยาตัวอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดการแพ้ยาเหล่านี้ด้วยเสมอ
- ผลข้างเคียงของยา (side effects) ก็เป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอีกประเภทหนึ่ง ที่ทราบได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ใช้ยาได้ทุกคนเพราะเป็นอาการที่เกิดจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาปกติจึงเป็นผลให้เกิดอาการเหล่านี้ขึ้นได้ ผลข้างเคียงของยานี้จึงเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่พบได้บ่อยกว่าการแพ้ยามาก อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของยาของผู้ที่ใช้ยาแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกัน บางคนอาจตอบสนองต่อยามากก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้ได้มากและอาจรุนแรงจนผู้ป่วยไม่สามารถยอมรับการใช้ยานั้นๆ ได้ ส่วนบางคนที่ตอบสนองต่อยาน้อยกว่าก็อาจทำให้เกิดอาการที่น้อยกว่า จึงยอมรับการใช้ยานั้นๆ ได้มากกว่า เช่น อาการง่วงนอนหรืออาการปากแห้ง ที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยากลุ่มยาต้านฮีสตามีนที่เป็นยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก แก้คันบางตัว เป็นต้น จากการที่ธรรมชาติของสภาวะร่างกาย เพศ โรคหรืออาการที่ผู้นั้นเป็นอยู่ พันธุกรรม หรือสิ่งอื่นๆ ที่มีความแตกต่างกันในระหว่างบุคคล ดังนั้น กลุ่มของผู้ที่ใช้ยาบางกลุ่มจึงอาจมีความเสี่ยง (risk factors) ต่อการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ สำหรับการเกิดการแพ้ยา กลุ่มผู้ใช้ยาที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใช้ยากลุ่มอื่นๆ เช่น เป็นเพศหญิง ผู้ใหญ่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV infections) ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสร่วมด้วย มีประวัติการแพ้ยาที่มีโครงสร้างทางเคมีแบบเดียวกันมาก่อน ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ที่มีหน่วยพันธุกรรมหรือยีน (gene) เฉพาะบางชนิด และผู้ป่วยโรคลูปัสหรือเอสแอลอี (SLE) ส่วนการเกิดผลข้างเคียงของยา กลุ่มผู้ใช้ยาที่มีความเสียงมากกว่าผู้ใช้ยากลุ่มอื่นๆ เช่น เป็นเพศหญิง ผู้ที่มีการเจ็บป่วยที่รุนแรง มีการทำงานของไตน้อยกว่าปกติ มีโรคตับ ใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV infections) ผู้ที่ติดเชื้อเฮอร์ปีส์ (Herpes infection) ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ (alcoholism) และผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE) ดังนั้น ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ทั้งการแพ้ยาและการเกิดผลข้างเคียงของยาเหล่านี้ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องมีการใช้ยา โดยทั่วไปมียาบางกลุ่มที่อาจพบการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ที่เป็นการแพ้ยาที่รุนแรงได้บ่อยกว่ายากลุ่มอื่นๆ ตัวอย่างเช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเพนนิซิลลิน (penicillins) และยาซัลฟา (sulfonamide antimicrobial agents) กลุ่มยากันชัก (anticonvulsants) กลุ่มยารักษาโรคเกาต์ (antigout agents) และกลุ่มยาเคมีบำบัด (chemotherapy) เป็นต้น มีโอกาสทำให้เกิดการแพ้ยาได้บ่อย และอาการพี่พบได้บ่อย เช่น อาการผื่นลมพิษ แน่น หายใจไม่ออก อาการผื่นแดงและลอกไหม้บริเวณเยื่อบุต่างๆ เช่น ปาก หลอดอาหาร ตา อวัยวะเพศ ทวารหนัก อาการผื่นในลักษณะอื่นๆ หรืออาการผิดปกติในระบบอื่นของร่างกาย ดังนั้น หลังจากที่ใช้ยาแล้วเกิดมีอาการต่างๆ เหล่านี้ หรือมีความผิดปกติอื่นๆ ขึ้นมา ผู้ที่ใช้ยาจะต้องให้ความสำคัญและตระหนักว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หากมีอาการรุนแรงก็ต้องรีบกลับไปแจ้งเภสัชกรหรือแพทย์ที่สถานพยาบาลทันที หากมีอาการที่ไม่รุนแรงก็ต้องลองสังเกตดูว่าอาการเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับการใช้ยาหรือไม่ และต้องมีการเฝ้าระวังเนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดความรุนแรงมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ใช้ยาไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรือไม่ ก็ควรกลับไปปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เพื่อตรวจสอบให้ชัดเจน
- เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคต่างๆ ที่ใช้ยาอยู่ นั้น อาจแยกแยะได้ยากจากอาการที่เกิดขึ้นจากตัวโรคหรืออาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ดังนั้น เมื่อเกิดอาการบางประการที่สงสัยว่าอาจเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาขึ้นมาแต่ละครั้ง ผู้ใช้ยาจึงควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าอาการดังกล่าวจัดเป็นอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรืออาการของโรคหรืออาการอื่นๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และอาการนั้นเป็นการแพ้ยาหรือผลข้างเคียงของยา ซึ่งจะมีลักษณะวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือหลีกเลี่ยง/ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากอาการอันไม่พึงประสงค์เหล่านี้
- ต้องทำอย่างไรหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
- วิธีการปฏิบัติตัวของผู้ที่ใช้ยา เมื่อเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา แบ่งตามประเภทของอาการไม่พึงประสงค์ และความรุนแรงของอาการที่เกิด ดังนี้
- 1. วิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดการแพ้ยาที่มีอาการรุนแรง เมื่อผู้ที่ใช้ยาเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่รุนแรง ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาแล้วแจ้งแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทันทีเพื่อตรวจสอบและรักษาหรือแก้ไขอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ซึ่งหากพบว่าเป็นการแพ้ยาประเภทที่รุนแรงจริง ก็ไม่ควรใช้ยานั้นอีกเด็ดขาด ตลอดชีวิต โดยทั่วไปแล้วเภสัชกรผู้ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลและร้านยาก็มักบอกผู้ป่วยว่าไม่ให้ใช้ยานั้นและยาอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับยานั้น หรือยาอื่นที่อาจเกิดอาการแพ้ข้ามกลุ่มกันได้อีก และจะออกบัตรแพ้ยาให้แก่ผู้ป่วย โดยระบุชื่อตัวยาที่มีการแพ้และอาการแพ้ที่เกิดขึ้น วันที่เกิดการแพ้ และยาตัวอื่นที่มีโอกาสเกิดการแพ้แบบนี้ได้ด้วย ผู้ป่วยควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้ตลอดเวลา และควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร หรือบุคลากรทางการแพทย์ ทุกครั้งที่มีการรับบริการทางการแพทย์ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดการแพ้ยาซ้ำจากยาที่เคยมีประวัติการแพ้ยาแล้วอีก
- 2. วิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดการแพ้ยาที่มีอาการไม่รุนแรง เมื่อเภสัชกรหรือแพทย์ได้ตรวจสอบแล้วว่าพบว่าผู้ที่ใช้ยาเกิดการแพ้ยาจริง โดยทั่วไปเภสัชกรก็จะออกบัตรแพ้ยาเพื่อบันทึกรายการยาที่แพ้และยาอื่นที่มีโอกาสแพ้ อาการแพ้ที่เกิดขึ้น วันที่แพ้ยา เช่นเดียวกันกับการแพ้ยาที่มีอาการรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยก็ไม่ควรใช้ยานั้นๆ อีก เช่นเดียวกัน แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยที่แพ้ยาเป็นโรคหรือมีอาการที่จำเป็นต้องใช้ยานั้นๆ อีกโดยไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วจริงๆ แพทย์ที่ให้การดูแลรักษาก็อาจมีความจำเป็นต้องลองใช้ยานั้นอีก โดยพิจารณาแล้วพบว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากยาจะมากกว่าความเสี่ยงจากการแพ้ยา เนื่องจากอาการแพ้ไม่รุนแรงและจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ต้องการโดยไม่มีทางเลือกอื่น อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แล้ว แพทย์ก็จะไม่เสี่ยงสั่งจ่ายยานั้นๆ สำหรับผู้ป่วยก็ต้องพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้และแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาแะละเภสัชกรผู้จ่ายยาให้ทราบก่อนรับยาทุกครั้งเพื่อป้องกันการเกิดการแพ้ยาซ้ำจากยาที่เคยมีประวัติการแพ้ยาแล้วเช่นเดียวกัน
- 3. วิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียงของยาที่มีอาการรุนแรง โดยทั่วไปถ้ายาใดที่มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง เภสัชกรก็มักจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบและให้ข้อมูลไว้บนฉลากยาที่จ่ายให้แก่ผู้ป่วยเสมอ เพื่อเตือนให้ผู้ป่วยระมัดระวังหากเกิดอาการข้างเคียงเหล่านั้นขึ้นและให้รีบแจ้งเภสัชกรหรือแพทย์ทันทีที่เกิดอาการ หรือถ้าเป็นยาที่ผู้ป่วยซื้อใช้ด้วยตนเอง ก็จะต้องอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาเพื่อศึกษาดูว่ายานั้นๆ อาจมีโอกาสทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงอะไรได้บ้าง สำหรับตัวผู้ที่ใช้ยาเอง ถ้าใช้ยาใดแล้วเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงก็ต้องแจ้งให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และเภสัชกรที่ให้การดูแลรักษาทุกครั้งที่รับการรักษา ซึ่งโดยทั่วไปผู้สั่งจ่ายยาก็จะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านั้นในผู้ป่วย โดยจะพยายามเลือกใช้ยาอื่นแทน แต่หากยังจำเป็นต้องใช้ยานั้นจริงๆ เภสัชกรก็จะมีคำแนะนำวิธีการปฏิบัติที่จะช่วยลดผลของอาการข้างเคียงเหล่านั้นให้น้อยที่สุด
- 4. วิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียงของยาที่มีอาการไม่รุนแรง โดยทั่วไปเมื่อผู้ที่ใช้ยาเกิดผลข้างเคียงของยาที่มีอาการไม่รุนแรงก็มักจะไม่เป็นปัญหาใดๆ กับการใช้ยาเพื่อให้ได้ผลในการรักษาโรคหรือบรรเทาอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ซึ่งถ้าอาการข้างเคียงนั้นผู้ป่วยสามารถทนได้โดยไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ก็ไม่ต้องมีการดำเนินการใดๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากอาการเหล่านั้นมีการพัฒนาความรุนแรงมากขึ้น หรืออาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นผลรบกวนการใช้ชีวิตปกติประจำวัน เช่น ยาทำให้ง่วงนอนแต่ผู้ใช้ยามีอาชีพที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกล หรือต้องขับรถตลอดทั้งวัน ซึ่งถ้ามีอาการง่วงก็อาจเกิดเป็นอันตรายที่รุนแรงได้ ผู้ที่ใช้ยาก็อาจขอคำปรึกษาจากเภสัชกรหรือแพทย์ให้แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวที่จะสามารถช่วยลดการเกิดอาการข้างเคียง หรือปรับเปลี่ยนแผนการใช้ยาเพื่อรักษา เช่น ยาทำให้ง่วงนอนแต่ผู้ใช้ยามีอาชีพที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกล หรือต้องขับรถตลอดทั้งวัน ซึ่งถ้ามีอาการง่วงก็อาจเกิดเป็นอันตรายที่รุนแรงได้
- บรรณานุกรม
- 1. Riedl, M.A. and Casillas, A.M. Adverse drug reactions: types and treatment options. American Family Physician 2003; 68:1781-90.
- 2. Gruchalla, R.S. Drug allergy. Journal of Allergy and Clinical Immunology 2003; 111(2): S548-S558.
- อาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา: การแพ้ยาและผลข้างเคียงของยา