issuu
โดยทั่วไปพบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้ใหญ่ เคยปวดศีรษะมาแล้วไม่มากก็น้อย หากเป็นมากจะมีผลกระทบต่อการทำงาน ต้องหยุดงานเพื่อเข้าโรงพยาบาลให้แพทย์ตรวจ อาการที่ตรวจพบก็ขึ้นอยู่กับชนิดของอาการที่เป็น สำหรับผู้หญิงมักจะปวดศีรษะก่อนมีประจำเดือน หรืออาจจะปวดไปพร้อมกับการมีประจำเดือน อาการที่ปวดศีรษะจะปวดข้างเดียวหรืออาจจะปวดทั้งสองข้างก็ได้ การปวดศีรษะมีหลายชนิด
ชนิดที่พบบ่อย คือ
1.ปวดแบบเทนชั่น (tension headaches)
โรคปวดศีรษะจากความเครียด เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ มักจะมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่องนานเป็นวัน ๆ จนถึงเป็นสัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน โดยจะปวดพอรำคาญ หรือทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย และจะปวดอย่างคงที่ ไม่แรงขึ้นกว่าวันแรกๆ ที่ปวด จัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่จะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
สาเหตุ
อาการปวดศีรษะของผู้ป่วยโรคนี้เป็นผลมาจากมีการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและใบหน้า ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจาก การมีสิ่งเร้ากระตุ้นที่กล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณรอบกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทขึ้นตรงประสาทส่วนกลาง (อาจเป็นบางส่วนของไขสันหลัง หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ที่เลี้ยงบริเวณศีรษะและใบหน้า) แล้วส่งผลกลับมาที่กล้ามเนื้อรอบกะโหลกศีรษะ ทำให้เกิดการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อดังกล่าว รวมทั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี เช่น เอนดอร์ฟิน และซีโรโทนิน ในเนื้อเยื่อดังกล่าว ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ส่วนใหญ่มักพบว่ามีสาเหตุกระตุ้น ได้แก่ ความเครียด หิวข้าวหรือกินข้าวผิดเวลา อดนอน ตาล้า ตาเพลีย (จากใช้สายตามากเกิน)นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีโรควิตกกังวลซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ หรือการปรับตัว บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคปวดศีรษะไมเกรน
อาการ
ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะ หรือท้ายทอยทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะ หรือปวดรอบศีรษะคล้ายเข็มขัดรัด ต่อเนื่องกันนานครั้งละ 30 นาทีถึง 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักจะปวดนานเกิน 24 ชั่วโมง บางคนอาจปวดนานติดต่อกันทุกวันเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือน โดยที่อาการปวดจะเป็นอย่างคงที่ ไม่ปวดรุนแรงขึ้นจากวันแรกๆ ที่เริ่มเป็น ส่วนมากจะเป็นการปวดตื้อๆ หนักๆ พอรำคาญหรือรู้สึกไม่สุขสบาย ส่วนมากที่อาจปวดรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ ไม่เป็นหวัด ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือตาพร่าตาลาย และไม่ปวดมากขึ้นเมื่อถูกแสง เสียง กลิ่น หรือมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาการปวดศีรษะอาจเริ่มตั้งแต่หลังตื่นนอนหรือในช่วงเช้าๆ บางคนอาจเริ่มปวดตอนบ่ายๆ เย็นๆ หรือหลังจากได้คร่ำเคร่งกับงานมากหรือขณะหิวข้าว หรือมีเรื่องคิดมาก วิตกกังวล มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือนอนไม่หลับ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากลักษณะอาการ และประวัติเกี่ยวกับความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ การคร่ำเคร่งกับงาน นอกจากมีอาการไม่ชัดเจนและสงสัยเป็นโรคเกี่ยวกับสมอง จึงจะส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผู้ป่วยและญาติจึงควรบอกเล่าประวัติ และอาการเจ็บป่วยอย่างละเอียด เช่น ปัญหาครอบครัว (สามีมีภรรยาน้อย เล่นการพนัน การทะเลาะกัน) ปัญหาการงาน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ถูกต้องและไม่หลงไปส่งตรวจพิเศษ ให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น
2.ปวดศีรษะเนื่องจากหลอดเลือด
มีคนไข้จำนวนหนึ่งมีอาการปวดศีรษะที่เป็นผลมาจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงสมองหรือประสาทส่วนกลางไม่เพียงพอ
ปวดศีรษะแบบไมเกรน (migraines) จะปวดรุนแรง ปวดแบบตุบๆ (throbbing pain) ของศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง คนไข้บางคนมีอาการคลื่นไส้ และมีความรู้สึกไวต่อแสง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดแบบไมเกรนนี้จะปวดนาน เป็นชั่วโมงหรือนานเป็นหลายวัน ปวดแบบไมเกรนมักจะมีอาการนำก่อน คือจะมีอาการปวดเตือนก่อนล่วงหน้าก่อนที่จะมีการปวดศีรษะจริง เช่น มีอาการร้อนแปล๊บๆ ที่หน้าผาก มีอาการแปล๊บๆ ที่ตาคล้ายฟ้าแลบ ปัจจัยที่ทำให้เป็นไมเกรน คือ พักผ่อนน้อย นอนดึก น้ำตาลในเลือดต่ำ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก อารมณ์หงุดหงิดบ่อยหรือร่างกายอ่อนเพลียหลังจากตรากตรำทำงานมาก ปวดแบบไมเกรนมักเกิดกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ มักปวดในขณะที่มีประจำเดือนหรือก่อนมีประจำเดือน และมักจะมาตามสายพันธุ์ (กรรมพันธุ์)
ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (cluster headaches) ปวดศีรษะข้างเดียว และปวดตุ๊บ ๆ เช่นเดียวกับปวดแบบไมเกรน แตกต่างจากไมเกรนตรงที่คนไข้จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและมีอาการผิดปกติต่อสายตา ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์อาจจะมีร้อนแปล๊บๆ ที่หน้าผาก น้ำตาไหล หรือมีคัดจมูก ม่านตาแคบลง บางคนมีเหงื่อออกมากตรงใบหน้าข้างกับที่ปวด การปวดแต่ละครั้งอาจนานถึง 10 นาที หรือ อาจจะเป็นชั่วโมงปวดรุนแรง ปวดตรงเวลากันทุกวัน วันหนึ่งอาจปวด 3 เวลา และยาวนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน
ปวดศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตสูง (hypertensive headaches) จะเกิดในนักบริหารที่มีความเครียด แล้วความดันโลหิตจะสูงขึ้นทันทีทำให้ปวดศีรษะ การปวดศีรษะนี้เนื่องจากความดันโลหิตของเส้นเลือดของศีรษะสูงขึ้นทำให้ปวดแบบตื้อๆ (dull) และปวดทั่วบริเวณศีรษะ การเคลื่อนไหวใบหน้า คอ ทำให้ปวดศีรษะมากขึ้น ปวดตอนเช้า เมื่อสายอาการก็จะดีขึ้น
ปวดศีรษะจากท๊อกสิค (toxic headaches) มักเกิดจากจากแพ้อากาศ แพ้สารเคมี และควัน บางครั้งอากาศเปลี่ยนแปลงก็เป็นสาเหตุให้ปวดศีรษะแบบท็อกสิคได้
3.สาเหตุอื่นๆ
อาการปวดศีรษะอาจเป็นสิ่งแสดงออกของการได้ยาในการรักษาโรค และโรคบางโรคอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย แพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้บอกให้คนไข้ทราบ
สัญญาณอันตรายที่ต้องไปพบแพทย์
1.เมื่อมีอาการปวดศีรษะอย่างเฉียบพลันและรุนแรง
2.ปวดศีรษะพร้อมกับมีอาการชักกระตุก
3.ปวดศีรษะพร้อมกับสับสน และความรู้สึก (consciousness) เสียไป
4.ปวดศีรษะพร้อมกับปวดตาและหู
5.ปวดศีรษะติดต่อกันนานๆ (persistent headache) ในคนไข้ที่ไม่เคยมีการปวดศีรษะมาก่อน
6.ปวดศีรษะพร้อมกับมีไข้
การที่แพทย์สรุปว่าปวดศีรษะมีต้นเหตุมาจากอะไรนั้น มักจะเกิดซักประวัติ เช่น ไม่ได้รับประทานอาหารแล้วปวดศีรษะ อาจเป็นเพราะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถามประวัติต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว พร้อมกับประวัติเกี่ยวกับการบาดเจ็บของศีรษะ การตรวจทางรังสีเอกซเรย์จะช่วยดูว่า มีมะเร็งในสมอง หรือมีเลือดจับเป็นก้อนภายในสมองหรือไม่ บางครั้งอาจจะต้องตรวจคลื่นสมองด้วยไฟฟ้า (electroencephalogram-EEG) ซึ่งจะบอกความผิดปกติของคลื่นสมอง แต่ไม่อาจจะสรุปได้ว่าปวดศีรษะมีสาเหตุมาจากอะไร เพราะคลื่นสมองจะบอกแค่หน้าที่ของเซลล์เท่านั้น ในสถาบันการแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญจะมีการตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ (computer tomographic scan) ซึ่งจะบอกข้อแตกต่างของมะเร็งหรือเลือดออกในสมองได้ การตรวจตาโดยละเอียดจะบอกอะไรได้มาก เช่น ดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตาม่านตาเท่ากันหรือไม่ จอรับภาพมีเส้นเลือดโปร่งหรือเส้นเลือดขอดหรือไม่ ถ้ามีจะต้องไปตรวจขั้นต่อไป เช่น ฉีดสี หากมีเส้นเลือดโป่งพองในสมอง จะต้องผ่าตัดแก้ไข เป็นต้น
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย ควรกินยาพาราเซตตามอล บรรเทา 1-2 เม็ด นั่งพัก นอนพัก ใช้นิ้วบีบนวด ควรไปปรึกษาแพทย์ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1.มีอาการปวดรุนแรง หรืออาเจียนรุนแรง
2.มีอาการปวดมากตอนเช้ามืด จนสะดุ้งตื่น หรือปวดแรงขึ้นและนานขึ้นทุกวัน
3.มีอาการเดินเซ แขนขาอ่อนแรง หรือชักกระตุก
4.มีอาการตาพร่ามัว และตาแดงร่วมด้วย
5.มีอาการปวดศีรษะหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
6.ดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น
7.มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะรักษาตนเอง
การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาโดยให้ยาบรรเทาปวดร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อหรือยากล่อมประสาท ถ้าพบว่ามีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าร่วมด้วย ก็จะให้การรักษาภาวะเหล่านี้ไปพร้อมกัน และอาจให้การรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น กายภาพบำบัด เทคนิคการผ่อนคลาย การทำจิตบำบัด การกระตุ้นประสาทด้วยไฟฟ้า การฝังเข็ม เป็นต้น ในรายที่มีอาการกำเริบมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และแต่ละครั้งปวดนานมากกว่า 3-4 ชั่วโมง หรือปวดรุนแรง หรือต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยมาก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาป้องกัน เช่น อะมิทริปไทลีน หรือฟลูออกซีทีน ทุกวันติดต่อกันนาน 1-3 เดือน ส่วนการปวดศีรษะจากไมเกรน มักพบ 2-7% ของการปวดศีรษะทั้งหมด เวลาปวดจะปวดมาก นอกจากจะได้ยารักษาแล้ว ควรให้คนไข้ได้พักในห้องที่เงียบและแสงสว่างน้อยจะทำให้อาการดีขึ้นโดยเร็ว ปวดศีรษะไมเกรนส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัยทำงาน จะหายได้เองเมื่ออายุ 50 ปี ยารักษาไมเกรนนอกจากจะมียาแก้ปวดทั่วไปแล้ว มักจะต้องใช้ยาพวกเออร์กอต (ergot derivatives) ร่วมด้วยจึงจะหายปวด หากรับประทานยาเออร์กอตภายใน 2 ชั่วโมงที่เริ่มเป็น มักจะหายปวดได้เร็ว สำหรับคนที่เป็นบ่อย จะใช้ยา " flunarizine" รับประทานก่อนนอนเพื่อป้องกันการปวดได้
เอกสารอ้างอิง
1.www.nmd.go.th/preventmed/self/headache.html
2.www.thailabonline.com/emotion-headace.htm
3.www.elib-online.com/doctors50/cerebro_headache001.html
4.www.surin.info/article/detail.php?tid=472
5.www.thaigoodview.com/node/3511
6.www.thaiabc.com/data/health.php?d=Tension