issuu
มียาอะไรที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 บ้าง ?
ขณะนี้มียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่สองกลุ่มคือ
-
adamantanes ได้แก่ ยาสามัญชื่อ amantadine และ remantadine
-
ยายับยั้งเอนไซม์ neuraminidase ได้แก่ ยาสามัญชื่อ oseltamivir (ยาเม็ด ยาน้ำ) และ zanamivir (ยาสูดพ่น)
ในประเทศไทย oseltamivir มีจำหน่ายในชื่อการค้า Tamiflu ของบริษัท Roche และ GPO-A-Flu ขององค์การเภสัชกรรม ส่วน zanamivir ในชื่อการค้า Relenza ของบริษัท GlaxoSmithKline ยาทั้ง 2 ชนิดเป็นยาใหม่ที่ต้องใช้ในโรงพยาบาล และสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
โดยปกติ ยาต้านไวรัสเหล่านี้ข้อบ่งใช้หลักคือสำหรับใช้รักษาหรือป้องกันไข้หวัดใหญ่ (H3N2) และแพทย์ได้นำ oseltamivir และ zanamivir มาใช้ในการรักษาหรือป้องกันไข้หวัดนก (H5N1) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) อันเนื่องมาจากไวรัสมีสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน
มีรายงานการดื้อยาของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (H3N2) ซึ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม ไวรัสที่ได้จากคนไข้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในสหรัฐและเม็กซิโกนั้น ยังมีการตอบสนองต่อ oseltamivir zanamivir ได้ดี (หมายถึงใช้ได้ผล) แต่มีการดื้อต่อยา amantadine และ remantadine คือใช้ไม่ได้ผล ฉะนั้น ยา 2 ตัวหลังนี้จึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการรักษา และยาจะช่วยลดความรุนแรงของการเป็นไข้หวัดและลดระยะเวลาการเจ็บป่วย ในกรณีของการรักษา ยาจะให้ผลดีหากได้รับยาเร็วที่สุดหลังจากแสดงอาการเจ็บป่วยไม่เกิน 48 ชั่วโมง (2 วัน) การได้รับยาหลังเลยช่วงเวลานี้ไปแล้วอาจให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร
ศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แนะนำให้ใช้ oseltamivir และ zanamivir สำหรับป้องกันและรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะตัดสินใจบนพื้นฐานทางคลินิกและระบาดวิทยา รวมถึงประเมินอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ
จำเป็นต้องกินยาเพื่อป้องกันหรือไม่ ?
ยาเหล่านี้ถูกกำหนดว่าต้องให้แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อมาใช้เอง การรับประทานยาให้ผลในการป้องกันประมาณ 70% ถึง 90% โดยหลักการ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาเพื่อป้องกันยกเว้นบางกรณีเท่านั้น ได้แก่
-
บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อไข้หวัด H1N1 สายพันธุ์ใหม่ และเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ มีโรคเรื้อรังบางชนิด ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสตรีมีครรภ์ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม
-
บุคลากรการแพทย์ผู้ที่ไม่ได้มีการป้องกันอย่างเหมาะสมระหว่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ หรือผู้ป่วยที่อาจจะติดเชื้อ (รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน) หรือผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ (ผู้ที่กลับมาจากบริเวณที่มีการระบาด)
จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาเมื่อไหร่่ ?
การรักษาด้วยยาจะให้เป็นอันดับแรกในผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการแทรกซ้อนหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีในขณะนี้สามารถฉีดเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้หรือไม่ ?
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยตรงในมนุษย์ มีเฉพาะวัคซีนป้องกันไข้หวัดหมูที่ใช้ในหมูเท่านั้นซึ่งไม่สามารถนำมาใช้กับคนได้ และยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์นั้นสามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้หรือไม่เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตขึ้นมาเป็นคนละสายพันธุ์
แล้วมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือยัง ?
ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ในประเทศต่างๆกำลังเร่งมือศึกษาค้นคว้าเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 เดือน หลังจากได้เชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดที่ชัดเจน
อ้างอิง
-
World Health Organization. Questions and answers related to vaccines for the new influenza A (H1N1). 2 May 2009.
-
Centers for Disease Control and Prevention. Interim Guidance on Antiviral Recommendations for Patients with Confirmed or Suspected Swine Influenza A (H1N1) Virus Infection and Close Contacts. 29 April 2009.