issuu
ยาแก้ปวด ลดไข้
ยาแก้ปวดลดไข้ ที่ใช้โดยทั่วไปเป็นยาสำหรับบรรเทาอาการปวดไม่รุนแรง ยาที่นิยมใช้แบ่งออกได้เป็นสองประเภท ได้แก่ พาราเซตามอล และ ยากลุ่มที่เรียกว่า Non-Steroidal anti-inflammatory drug (เรียกย่อๆ ว่า NSAIDs หรือ เอ็น-เสด)
1.พาราเซตามอล
เป็นยาที่ใช้กันมาก สำหรับอาการปวดทั่วไป เนื่องจากราคาถูก มีข้อดีคือ ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และมักไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการแพ้ จึงเหมาะที่จะใช้แก้ปวดลดไข้ในผู้ที่มีโรคแผลในทางเดินอาหาร ผู้ที่แพ้ยากลุ่ม NSAIDs หรือในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เด็กเล็กที่สงสัยจะเป็นไข้หวัดใหญ่ หรืออีสุกอีใส
ข้อบ่งใช้ มีดังนี้
- • ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการไข้
- • ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงระดับปานกลาง
ข้อควรระวังในการใช้ มีดังนี้
- • ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
- • สำหรับผู้ใหญ่ ไม่ควรรับประทานยานี้ในขนาดสูงมากกว่าครั้งละ 1,000 มก. (2 เม็ด) หรือเกินวันละ 4,000 มก. (8 เม็ด) และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันมากกว่า 5-10 วัน
- • สำหรับเด็ก ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันมากกว่า 3-5 วัน
2.NSAIDs
ยากลุ่มนี้เป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ มียามากกว่า 30 รายการตามชื่อสามัญที่อยู่ในกลุ่มนี้ แต่ที่รู้จักกันดีคือ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค เป็นต้น ยา NSAIDs แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามโครงสร้างทางเคมีได้ 3 กลุ่ม โดยยาในแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันในแง่ของระยะเวลาการออกฤทธิ์ และ ผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร ดังนี้
- • 1.NSAIDs ดั้งเดิม ได้แก่ Aspirin, Indomethacin, Ibuprofen, Naproxen, Diclofenac
- • 2.Selective COX-2 inhibitor ได้แก่ Meloxicam, Etodolac , Nimesulide
- • 3.Specific COX-2 inhibitor ได้แก่ Celecoxib, Rofecoxib
ข้อบ่งใช้่ มีดังนี้
- • ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการไข้
- • รักษาอาการปวดทุกชนิดทั้งเรื้อรังและเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน ปวดแผล โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- • ต้านการอักเสบ
- • สำหรับแอสไพรินนอกจากมีฤทธิแก้ปวด แก้อักเสบแล้ว ยังมีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกร็ดเลือดจับตัวเป็นก้อนได้น้อยลง ใช้ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง และหัวใจ ปัจจุบันจึงไม่เป็นที่นิยมใช้แก้ปวดสักเท่าไหร่นัก
ข้อควรระวังในการใช้ มีดังนี้
- • ให้รับประทานหลังอาหารทันที เนื่องจากผลข้างเคียงคือระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- • ดื่มน้ำหลังรับประทานยามากๆ
- • ไม่ควรใช้ยาในผู้ที่สงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก หรือผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
- • ควรระมัดระวังการใช้ยาในเด็กเล็ก
- • สามารถรับประทานเฉพาะเวลามีอาการ ถ้าไม่หาย รับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ยาบางตัวที่มีฤทธิ์ยาวอาจรับประทานซ้ำทุก 12 ชั่วโมง หรือวันละสองครั้ง
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้ยากลุ่มนี้ได้ หากสงสัยว่าแพ้ยา ควรหยุดยา และหลีกเลี่ยงยาในกลุ่มนี้ และแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรทราบ เพราะมีโอกาสแพ้ข้ามกลุ่มกันได้
ผู้เรียบเรียง ภญ. อมรรัตน์ รุ่งเรืองฝั่งสาย