issuu
บทนำ
สำหรับท่านที่มีอาการเหนื่อยใจสั่น และแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ บางครั้งพอได้รับยาไปรับประทานก็ดีขึ้น แต่หยุดยาก็กลับเป็นอีก ทำให้เกิดคำถามต่าง ๆ มากมาย เช่น รักษาไม่หายหรืออย่างไร หรือยาไม่ดีพอ หรือมีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่หรือไม่ ลองมาดูกันสิครับว่าความจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร
ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอย่างไร มีอาการอย่างไร
ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะหรือโรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ มีการทำงานมากเกินไป เกิดการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติตามไปด้วย อาการที่พบคือ ใจสั่น หงุดหงิด ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย กินจุแต่น้ำหนักไม่เพิ่มหรือกลับผอมลง บางคนมีผิวค่อนข้างชื้น บางคนมีอาการท้องเสีย ส่วนบางคนก็ตาโปนออก ฯลฯ
รู้ได้อย่างไรว่าไทรอยด์เป็นพิษ
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะตรวจเลือด เมื่อพบว่าการทำงานของต่อมไทรอยด์มากผิดปกติก็สามารถวินิจฉัยโรคได้
รักษาไทรอยด์เป็นพิษอย่างไรจึงจะดี
การรักษาหลักของไทรอยด์เป็นพิษ คือ การกินยา ยาที่ใช้รักษา เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ซึ่งยับยั้งทั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่และยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่แล้ว เมื่อรับประทานยาที่ได้ขนาดพอเหมาะ อาการมักจะดีขึ้นในเวลาไม่กี่วัน ในระยะแรกแพทย์อาจจะให้ยาที่ลดอาการใจสั่นร่วมด้วย แต่เมื่อระดับของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยาลดอาการใจสั่น กินแต่ยาต้านฤทธิ์ฮอร์โมนไทรอยด์เพียงอย่างเดียวก็พอ
เนื่องจากโรคของไทรอยด์เป็นพิษ ส่วนใหญ่จะเกิดจากปฏิกริยาของร่างกายต่อต่อมไทรอยด์ของเราเอง ทำให้เกิดการกระตุ้นให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติจนเกิดเป็นพิษขึ้น ปฏิกริยานี้ จะต้องใช้เวลาในการหาย คือ จะไม่หายในทันที แต่จะลดความรุนแรงลงเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ดังนั้น เมื่อกินยารักษาไทรอยด์เป็นพิษจนรู้สึกสบายตัว ไม่เหนื่อย ไม่ใจสั่น น้ำหนักตัวเริ่มขึ้น ก็ไม่ควรหยุดยาทันทีเพราะโรคยังเป็นอยู่แต่ถูกกดไม่ให้มีอาการด้วยยาที่รับประทาน แพทย์จะเป็นผู้ตรวจเลือดให้เพื่อดูว่าอาการของโรคดีขึ้นมากน้อยเพียงใด เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลง จนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด
ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคนี้ หากหยุดยาเองจะมีอาการกลับมาเป็นใหม่ เพราะโรคยังอยู่ เมื่อไม่มียาควบคุมจึงมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ การปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับคนเป็นโรคนี้ คือ ไม่ควรหยุดยาเอง กินยาให้สม่ำเสมอ ไปตรวจตามแพทย์นัด หากลืมยาหรือทำยาหาย ควรไปพบแพทย์เพื่อซื้อยาใหม่ ไม่ควรหยุดยาเพราะจะทำให้เกิดอาการและการควบคุมโรคยากขึ้น
ทำไมบางครั้งกินยาแล้ว คอกลับโตขึ้น
ในผู้ป่วยบางรายเมื่อกินยาแล้วคอกลับโตขึ้น อาจมีสาเหตุได้ 2 กลุ่มคือ ยาไม่พอ ทำให้โรคยังกำเริบอยู่ คอจึงโตขึ้น ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีอาการคล้ายกับตอนเริ่มต้น แต่ในผู้ป่วยอีกกลุ่มเกิดจากการกินยาเกินขนาด คือ โรคเริ่มดีขึ้น แต่ยังกินยาเท่าเดิมอยู่ จึงเกิดคอพอกชนิดไม่เป็นพิษร่วมด้วย คอก็โตขึ้นได้เช่นกัน ข้อแนะนำคือ หากกินยาแล้วคอกลับโตขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์บ่อยๆ เพราะการรักษาจะไม่ต่อเนื่อง
หากกินยาไม่หาย จะทำอย่างไรดี
หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการกินไอโอดีนกัมมันตรังสี ระยะเวลาเฉลี่ยในการรักษาด้วยยา มักจะประมาณ 2 ปี ในระหว่างนี้หากลดยาไม่ได้หรืออาการมากขึ้น แนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือกลืนรังสี