issuu
ต้อลมและต้อเนื้อเป็นโรคที่เก่าแก่ได้รับการอ้างอิงจากเอกสารของชนชาวกรีกโบราณได้ 3000 ปี ล่วงมาแล้ว ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยทั้งต้อลมและต้อเนื้อจำนวนมาก ทำให้การป้องกันและการรักษาเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสนใจ การที่เป็นต้อลมหรือต้อเนื้อนั้นไม่ได้หมายความว่าตาที่เป็นต้อนั้นจะไม่ สามารถใช้งานได้หากแต่ว่านั้นหมายถึงสุขภาพตาต้องได้รับการดูแลมากขึ้น ซึ่งตาก็เหมือนกับอวัยวะอื่นๆในร่างกายที่ต้องมีการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพ ดี เพื่อที่จะได้อยู่รับใช้ผู้นั้นเป็นเวลานานเท่านาน
สาเหตุการเกิดต้อลมและต้อเนื้อ?
กลไกการเกิดโรค ที่แท้จริงยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก แต่จากการศึกษาในขั้นต้นนั้นต้อเนื้ออาจเกิดจากปฏิกิริยาคล้ายกับภูมิแพ้ของสารที่มาสัมผัสกับเนื้อเยื่อของตา ในบางกรณีต้อเนื้อหรือต้อลมอาจหยุดการเติบโตเป็นเวลานาน หรือหดตัวลงหายไปโดยสิ้นเชิง ผลการวิจัยยังพบอีกว่า แสงอัลตร้าไวโอเลตมีส่วนทำให้เนื้อเยื่อของตาเปลี่ยนเป็นต้อลมและเกิดเป็นต้อเนื้อตามมาได้ โดยเฉพาะแสงอัลตร้าไวโอเลต บี สรุปรวมได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อลมและต้อเนื้อนั้นเกิดจากการระคายเคืองเรื้อรังโดยลม ฝุ่น ความร้อน การใช้สายตามากเป็นเวลานาน ๆ และรังสีอัลตร้าไวโอเลท (ยูวี) จึงไม่ค่อยพบโรคนี้ในเด็ก แต่จะพบในผู้ทำงานกลางแจ้งมากกว่าผู้ที่ทำงานในบ้าน นอกจากนี้กรรมพันธุ์ก็มีส่วนทำให้บุคคลเป็นต้อเนื้อได้เร็วกว่าคนอื่น
ต้อลมและต้อเนื้อ
ต้อลมและต้อเนื้อนั้นไม่ใช่เนื้องอก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปกติที่มีการสะสมของโปรตีนและไขมันอยู่ ซึ่งต้อเนื้อนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองระยะ โดยในระยะเริ่มแรกนั้นเรียกว่าต้อลม (Pinguecula) ซึ่งมีลักษณะเนื้อเยื่อสีเหลืองที่อยู่บริเวณตาขาวถ้าเนื้อเยื่อนี้เริ่มโตขยายเข้าสู่ตาดำมากขึ้นเรื่อยๆก็จะเปลี่ยนเป็นต้อเนื้อ (Ptygium) ในที่สุด ในทางพยาธิวิทยาแล้วต้อลมนั้นแตกต่างจากต้อเนื้อ และต้อเนื้อที่เกิดขึ้นซ้ำหลังจากการรักษาต้อเนื้อไปแล้วก็แตกต่างจากต้อเนื้อที่ปรากฏในตอนแรก
ต้อลม
เป็นภาวะที่มีการเสื่อมของเยื่อบุตาขาว เกิดเป็นแผ่น หรือตุ่มนูนอยู่บริเวณเยื่อตาขาว สีขาว ๆ เหลือง ๆ บางครั้งจะมีสีแดงได้ อาจอยู่ที่ตาขาวด้านหัวตาหรือหางตาก็ได้ แต่มักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา ซึ่งขอบเขตจะยังไม่ลุกลามเข้าตาดำ ไม่มีอาการอื่นใดนอกจากอักเสบเป็นครั้งคราวทำให้มีอาการตาแดงเล็กน้อยรอบๆเนื้อเยื่อนั้น และรู้สึกเคืองตา น้ำตาไหลบ้าง โดยเนื้อเยื่อนี้ จะคงอยู่ตลอดไป แต่จะไม่ทำให้ตาบอด จึงอาจไม่ต้องรักษาแต่อย่างใด แต่อาจหยอดยาบรรเทาอาการเคืองตาบ้างเป็นครั้งคราว
ต้อเนื้อ
เป็นแผ่นเนื้อเยื่อสีชมพูรูปสามเหลี่ยม มักเกิดที่หัวตา และมียอดแหลมของสามเหลี่ยมค่อยๆ คืบเข้าสู่กระจกตาดำ อาจไม่มีอาการหรือเคืองตาเป็นบางครั้งทำนองเดียวกับต้อลม อาจใช้ยาหยอดบรรเทาอาการเคืองแต่ก็จะไม่สามารถสลายต้อเนื้อได้ แต่เมื่อแผ่นเนื้อลามเข้าบังกระจกตาดำจะทำให้รบกวนการมองเห็น หากปล่อยเอาไว้อาจทำให้มองไม่เห็นได้ จักษุแพทย์จะผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกให้ในระยะนี้ก็จะหายเป็นปกติ
อาการที่สำคัญ
ผู้ที่เริ่มเป็นนั้นสามารถสังเกตเห็นเนื้อเยื่อได้บริเวณตาขาวโดยเนื้อนั้นจะมีสีเหลืองเล็กน้อยจนถึงสีชมพูแดง ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตาแดง คันตา เคืองตา แสบตา ไม่กล้าสู้แสง น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีผงหรือสิ่งแปลกปลอมในตาเกือบตลอดเวลา สายตาเอียงอาจเพิ่มขึ้น เห็นภาพซ้อน หรือไม่สามารถมองไปในทิศทางต่างๆได้คล่องเท่าที่ควร และถ้าเนื้อเยื่อลามเข้าบังกระจกตาดำจะทำให้รบกวนการมองเห็น หากปล่อยเอาไว้อาจทำให้มองไม่เห็นได้
อาการเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลตั้งแต่เริ่มแรก โดยมากแล้วหากเริ่มการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกต้อเนื้ออาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสายตารุนแรงนัก แต่อาการทางสายตาจะมีมากขึ้นเมื่อต้อเนื้อเริ่มโตเข้าสู่ตาดำ หากต้อเนื้อโตจนบังรูม่านตาดำแพทย์ก็อาจต้องผ่าตัดลอกเนื้อนั้นออก
เอกสารอ้างอิง
-
วรวุฒิ เจริญศิริ. ต้อลม (pinguecula).
Available at: http://www.bangkokhealth.com/eye_htdoc/eye_health_detail.asp?Number=9482.Accessed January 4, 2005.
-
วิทยาลัยการปกครอง โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ต้อลม-ต้อเนื้อ.
Available at: http://www.dopa.go.th/web_pages/m03090000/health/health.html#k8.Accessed January 4, 2005.
-
สำนักงานแพทย์ทหาร สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด. ต้อลม.
Available at: http://data.schq.mi.th/~medo/disease/disease4.htm.Accessed January 4, 2005.
นพท.กัณฐรัตน์ จันรุ่งเรือง ชั้นปีที่ 5
เรียบเรียงโดย นพ.ปณิธาน ประดับพงษา
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า