issuu
เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเกิดขึ้นแล้วถ้าแม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการดีขึ้นแต่ก็อาจไม่หายเป็นปกติบางคนที่โชคร้ายอาจมีความพิการตลอดไป ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งที่จําเป็นอย่างยิ่ง การป้องกันทําได้โดยการค้นหาปัจจัยเสี่ยงและควบคุมรักษาปัจจัยเสี่ยงนั้นอย่างดี ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุสําคัญได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า และโรคหัวใจบางชนิด ดังนั้นในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีโรคมาก่อนจึงควรตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิต และตรวจเลือดเป็นประจําทุกปี และควรงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด สําหรับผู้ที่มีโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ก็ควรดูแลตัวเอง รับประทานยาและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนํา รวมทั้งออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในผู้ที่เคยมีอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมองหรือผู้ที่เคยมีอาการแล้ว ถ้าเป็นชนิดหลอดเลือดสมองตีบตันควรรับประทานยาป้องกันเช่นยาในกลุ่มแอสไพริน หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
1.ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ถ้ามีความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ
2.งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด หลอดเลือดแดงแข็ง และตีบง่ายขึ้น
3.ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
4.ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพศและวัย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละ 30 นาที
5.งดอาหารเค็ม อาหารที่มีไขมัน หรือมีโคเลสเตอรอลสูง
6.งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
7.ทำจิตใจให้แจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
8.ควรตรวจสุขภาพร่างกายจากแพทย์เป็นประจำทุกปี ถ้ามีโรคหัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
9.ผู้ที่กินยาป้องกันการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองทําอย่างไร
ในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วและลดการเกิดความพิการได้อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สําคัญที่สุดคือ ผู้ที่มีอาการจะต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน เนื่องจากถ้ามาพบแพทย์เร็วภายใน 3-6 ชั่วโมง ก็จะมีโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ได้ผลดี ดังนั้นถ้ามีอาการต่าง ๆ ที่สงสัยว่าจะเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองจึงไม่ควรรอช้าควรรีบไปหาแพทย์โดยเร็ว เป็นที่น่าเสียดายที่คนไข้ส่วนใหญ่มักจะรอดูอาการอยู่ที่บ้าน บีบนวดอยู่ 2-3 วัน จนเห็นว่าไม่ดีขึ้นแล้วจึงมาโรงพยาบาล ซึ่งทําให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าผู้ที่มารับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก สําหรับแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก ก็อาจมีความจําเป็นต้องผ่าตัดเอาก้อนเลือดออกในบางกรณีที่ทําได้ ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน การรักษาก็มีได้หลายแนวทางขึ้นกับตําแหน่งของโรคและระยะเวลาก่อนที่จะมาพบแพทย์ ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นยาใหม่ ๆ หลายชนิด โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้แต่มีข้อจํากัดคือผู้ป่วยจะต้องได้รับยาภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ และจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนได้อย่างทันทัวงที ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอาจใช้ฉีดให้ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคหัวใจร่วมด้วย หรืออาจใช้ยาต้านเกร็ดเลือด นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยการทํากายภาพบําบัดและอาชีวะบําบัด เป็นสิ่งจําเป็นที่จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพและความพิการของผู้ป่วย ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นและสามารถทําให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองได้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ นอกจากนี้สิ่งที่สําคัญอีกอย่างหนึ่งคือการป้องกันการเกิดซ้ำเนื่องจากผู้ที่เคยมีอาการแล้วมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคซ้ำอีก การป้องกันที่ดีที่สุดคือการระวังรักษาปัจจัยเสี่ยง ต่าง ๆ เช่นการควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ควบคุมน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือด ในผู้ที่มีหลอดเลือดสมองตีบอาจใช้ยาต้านเกร็ดเลือดเช่นยาในกลุ่มแอสไพริน หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน ในบางกรณีเช่นในผู้ป่วยที่มีการตีบตันของหลอดเลือดบริเวณคอ อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดหลอดเลือดส่วนที่ตีบอุดตัน
Reference:
1.สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
2.สมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย
3.http://www.thaiclinic.com/braininfarct
4.http://www.neuro.or.th/journal
โดย นพท.หญิงอรนภัส มณีเทศ