issuu
ยาบางชนิดทั้งที่ได้รับจากแพทย์หรือหาซื้อรับประทานเองตามร้านขายยาเพื่อรักษาโรคหรืออาการที่เป็นอยู่ ยาหลายชนิดมักมีผลทำให้สูญเสียความสามารถในการขับขี่ คุณอาจไม่รู้สึกตัวว่ายาอาจทำให้สูญเสียความสามารถในการขับขี่จนกว่าคุณจะอยู่ในสภาวะที่ต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วและแม่นยำเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นเสมอไปว่ายาเหล่านี้จะมีผลต่อการขับขี่ของคุณ
โรคหรืออาการที่อาจจะได้รับยาที่มีผลต่อความสามารถในการขับขี่ ได้แก่
-
นอนไม่หลับ เครียด ซึมเศร้า
-
โรคทางระบบประสาท
-
ภูมิแพ้ ไข้หวัด อาการไอ
-
อาการปวด
-
ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
-
เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
ยาที่มีการใช้บ่อย ได้แก่ chlorpheniramine, diphenhydramine, dimenhydrinate, ibuprofen, naproxen, tramadol, codeine, amitriptyline, flunarizine, cinnarizine, tolperisone, orphenadrine ฯลฯ โดยยาเหล่านี้อาจทำให้
-
ง่วงนอน อ่อนเพลีย อ่อนล้า
-
การมองเห็นเปลี่ยนไป ไม่สามารถปรับระยะสายตาได้ มองภาพเบลอ
-
วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
-
เคลื่อนไหวช้าลง
-
คลื่นไส้
-
หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์เสียง่าย
-
กระสับกระส่าย เสียสมาธิ
หากต้องขับรถแล้วจะรับประทานยาเหล่านี้ได้หรือไม่
ถ้าหากคุณเคยรับประทานยาเหล่านี้มาแล้วและไม่เกิดอาการข้างเคียงใด ๆ ก็สามารถขับขี่รถได้ตามปกติ ในบางรายหากเกิดอาการข้างเคียงและท่านจำเป็นต้องขับรถ กรุณาแจ้งแพทย์และเภสัชกร ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ลดผลกระทบจากยาที่มีต่อการขับขี่รถของคุณ โดยที่แพทย์อาจจะ
-
ปรับขนาดยา
-
ปรับเวลาในการรับประทานยา เช่น อาจรับประทานยาหลังจากขับรถถึงที่หมายแล้ว หรือให้รับประทานก่อนนอน
-
แนะนำให้คุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ออกกำลังกาย หรือ รับประทานอาหาร เพื่อทดแทนการใช้ยา
-
และสุดท้าย แพทย์อาจเปลี่ยนยาเป็นตัวยาที่มีผลทำให้ง่วงนอนน้อยกว่า
การปฏิบัติตัวเมื่อรับประทานยาเหล่านี้
-
หากได้ยาใหม่ ควรสังเกตอาการข้างเคียงในช่วงแรก แม้ว่ายาจะมีแนวโน้มทำให้ง่วงแต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน
-
แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง หากคุณรับประทานยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริม เพราะยาบางอย่างอาจเสริมฤทธิ์ในการเกิดผลข้างเคียง
-
ไม่ควรรับประทานยาร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ บรั่นดี เหล้า
-
หากมีอาการง่วงให้หยุดขับรถชั่วคราว การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องประมาณ 1-2 สัปดาห์ร่างกายมักจะปรับตัวได้ อาการง่วงอาจลดลงหรือหายไปในที่สุด
-
ห้ามหยุดยาเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง ยาบางอย่างหากหยุดรับประทานอาจมีผลต่อภาวะโรคของท่านได้ คาดเข็มขัดนิรภัยหรือสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง
ทางเลือก หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับประทานยา
-
หาเพื่อนร่วมทาง อาจเป็นญาติหรือเพื่อนสักคน แนะนำว่าควรเป็นผู้ที่ขับขี่รถเป็นด้วย
-
โบกแท็กซี่
-
นั่งรถตู้ รถประจำทาง รถไฟฟ้า
-
หากที่ทำงานไม่ไกลมากนักหรือรู้สึกง่วงแล้วหละก็ จอดรถทิ้งไว้แล้วเดินออกกำลังสักนิดก็คงพอทำให้สดชื่น หายง่วงขึ้นมาบ้าง
หากสงสัยว่ายาที่ท่านได้มานั้นมีโอกาสทำให้ง่วงหรือไม่ สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ที่ www.yaandyou.net
ผู้เรียบเรียง ภก. ปรัชญา เจตินัย
นักวิชาการ มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา