issuu
การรักษาต้อลม เป็นการรักษาตามอาการที่เป็นและป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นเช่น ใช้ยาหยอดตา แว่นกันแดด และการผ่าตัด หลักโดยทั่วไป หากต้อลมไม่อักเสบ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากต้อลมจะไม่ลามเข้าตาดำหรือทำให้ตามัวลง น้อยรายมากที่จะทำให้เกิดความรำคาญมาก มีอาการอักเสบ เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ๆ ต้อลมนูนหนาจนดูน่าเกลียด หรือต้อลมเป็นอุปสรรคต่อการใช้เลนส์สัมผัสอาจพิจารณาผ่าตัดลอกออกได้ แต่ก็อาจเกิดรอยแผลเป็นซึ่งอาจทำให้ไม่น่าดูพอๆ กับลักษณะต้อลมที่เป็นแต่แรก โดยทั่วไปให้พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เนื้อเยื่อลุกลามมากขึ้นเช่น
-
บริเวณที่มีลมแรง ๆ เช่น ริมหน้าต่างรถยนต์
-
ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยหันหน้าสู้ลมและไม่ใส่แว่น
-
บริเวณที่มีฝุ่นควันมากๆ เช่น บริเวณที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ เป็นต้น
-
สำหรับต้อลมบริเวณตาขาว โดยทั่วไปจะตัดออกในสองสามกรณี
-
ผู้ป่วยมีอาการเคืองและคันตาบ่อยมาก หยอดยาแล้วอาการคันเคืองก็ไม่ดีขึ้น
-
ก้อนเนื้อมีชิ้นโตและเห็นเด่นชัดจนทำให้เกิดความไม่สวยงามบนใบหน้า
ถ้าเนื้อเยื่อไม่โตมากนัก เคืองคันนานๆครั้ง จักษุแพทย์มักจะแนะนำให้รักษาแบบประคับประคอง คือหยอดยาเมื่อมีอาการคัน สาเหตุที่ไม่ตัดออกตั้งแต่ยังเป็นน้อย ๆ เพราะต้อลมนั้นมีโอกาสเกิดเป็นใหม่ ภายหลังตัดไปแล้วได้ค่อนข้างมาก โดยทั่วไปวิธีตัดออกนั้นมีหลายวิธี แพทย์จะเลือกทำวิธีที่มีโอกาสกลับเป็นใหม่น้อยที่สุด
ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการผ่าตัดนั้นไม่สามารถรักษาต้อเนื้อได้อย่างสิ้นเชิง ประมาณ 40% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดที่ได้ผลดีในครั้งแรกยังสามารถกลับมาเป็นต้อเนื้อได้อีก การรักษาด้วยยาหยอดตาหรือกระทั่งการฉายรังสีนั้นอาจยังจำเป็นต้องมีอยู่ถึงแม้ว่าการผ่าตัดได้ผลดี ทั้งนี้เนื่องจากต้อเนื้อที่เป็นซ้ำนั้นรักษาได้ยากกว่า และเติบโตรวดเร็วกว่าในครั้งแรกมาก
ภายหลังทำการตัดออก ต้องหลีกเลี่ยงฝุ่น แดด ลมแรง ๆ แพทย์มักจะให้ปิดตาไว้หลังผ่าหนึ่งวัน เปิดได้ในวันรุ่งขึ้น หลังทำจะมีน้ำตา และมีอาการเคืองคันมากกว่าเดิมเป็นสัปดาห์ได้แต่การรักษาในแต่ละวิธีนั้นมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้ป่วยไม่มากก็น้อย ดังนั้นการเลือกวิธีการรักษาใด ๆ จึงต้องทำอย่างรอบครอบ ในการบำบัดหลังการผ่าตัดนั้น สายตาอาจมีการเปลี่ยนแปลงแว่นสายตาต้องมีการตรวจวัดใหม่ ในรายที่เป็นมากนั้น แว่นสายตาอย่างเดียวอาจไม่สามารถให้ผลดีได้เท่าที่ควร ดังนั้นคอนเทคเลนส์ชนิดแข็ง (RGP) ก็อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการมัวหลังการผ่าตัดได้ดี
เอกสารอ้างอิง
-
วรวุฒิ เจริญศิริ. ต้อลม (pinguecula).
Available at: http://www.bangkokhealth.com/eye_htdoc/eye_health_detail.asp?Number=9482.Accessed January 4, 2005.
-
วิทยาลัยการปกครอง โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ต้อลม-ต้อเนื้อ.
Available at:http://www.dopa.go.th/web_pages/m03090000/health/health.html#k8.Accessed January 4, 2005.
-
สำนักงานแพทย์ทหาร สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด. ต้อลม.
Available at: http://data.schq.mi.th/~medo/disease/disease4.htm.Accessed January 4, 2005.
นพท.กัณฐรัตน์ จันรุ่งเรือง ชั้นปีที่ 5
เรียบเรียงโดย นพ.ปณิธาน ประดับพงษา
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า