ค่าทางห้องปฏิบัติการ : Hb A1C (Hemoglobin A1c)
ชื่ออื่นๆ : Glycohemoglobin, Glycated hemoglobin, Glycosylated hemoglobin, Diabetic control index
ค่าทางห้องปฏิบัติการนี้คืออะไร
Hb A1c (Hemoglobin A1c) เป็นการตรวจค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
เพื่อพิจารณาและประเมินผลการรักษาในภาพรวมช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ว่าคุณสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้หรือไม่ และใช้เพื่อการคัดกรองและวินิจฉัยภาวะเบาหวานในปัจจุบันด้วย
การตรวจ Hb A1c สามารถดูผลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงที่ผ่านมาเป็นเดือนๆได้ เนื่องจาก เป็นการนำผลของระดับน้ำตาลที่เกาะอยู่ที่ส่วนประกอบในเม็ดเลือดแดง ที่เรียกว่า ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งน้ำตาลนี้จะเกาะอยู่นานจนสิ้นอายุขัยของเม็ดเลือดแดง ซึ่งระยะเวลานานถึง 3 เดือน มาตรวจหาค่าเฉลี่ยนั้นเอง
การตรวจ Hb A1c สำคัญอย่างไร
โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชม. (FBS) ครั้งเดียว เป็นการบอกระดับน้ำตาลในช่วงนั้นๆที่มาพบแพทย์ อาจจะไม่เพียงพอที่จะประเมินประสิทธิภาพการรักษาในระยะยาวได้ ดังนั้นการตรวจค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา (HbA1c) จึงมีความสำคัญ เพื่อช่วยประเมินผลการรักษา และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานในระยะยาวได้ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงระยะเวลานาน ส่งผลให้ทำลายระบบร่างกายต่างๆ มากมาย เช่น ไตเสื่อม ตาเสื่อม ระบบหลอดเลือดหัวใจ และระบบปลายประสาท โดยผู้ป่วยทั่วไปมีเป้าหมายการลด Hb A1c ที่น้อยกว่า 7 mg% หากเป็นไปได้ควรน้อยกว่า 6.5 mg% เนื่องจากมีการศึกษาสามารถลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ในระยะยาวได้
ตรวจบ่อยแค่ไหน
การตรวจค่า Hb A1c แนะนำให้ตรวจอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งในผู้ป่วยเบาหวาน หรือมากกว่านั้นหากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ หรือมีการปรับเปลี่ยนการรักษาใหม่ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ค่า Hb A1c แปลผลอย่างไร
คนปกติไม่มีภาวะเบาหวาน จะมีค่า Hb A1C ประมาณ 5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (mg%) แต่สำหรับผู้เป็นเบาหวานจะมีค่าสูงกว่าปกติ
ผู้ที่ตรวจ Hb A1c ครั้งแรก เพื่อการคัดกรองเบาหวาน
ค่าปกติ ผู้ไม่เป็นเบาหวาน = น้อยกว่า 5.7 mg%
ผู้มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน = 5.7 mg% ถึง 6.4 mg%
ผู้เป็นเบาหวาน = มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 mg% |
สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ค่าเป้าหมาย Hb A1c ในการรักษา
น้อยกว่า 7 mg% [หากเป็นไปได้ควรน้อยกว่า 6.5 mg%] |
ค่ามากผิดปกติ
1. ผู้ที่ตรวจ Hb A1c ครั้งแรก เพื่อการคัดกรองเบาหวา
1.1 Hb A1c ค่าช่วง 5.7 mg% ถึง 6.4 mg%
- แสงโอกาสมีความเสี่ยงการเป็นเบาหวานในอนาคต
การจัดการ
ลดน้ำหนักด้วยวิธีที่เหมาะสม เพิ่มการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น การออกกำลังกาย การเดินเร็ว ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหาร ประเภทให้พลังงาน เช่น คาร์โบไฮเดรต [ข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน น้ำตาล แอลกอฮอล์], อาหารไขมัน [กะทิ นม เนย ไขมันสัตว์ ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่] เป็นต้น
- ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อพิจารณาแนวทางการรักษา และเพื่อตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งต่อไป
1.2 Hb A1c ค่าช่วง มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 mg%
- มีภาวะเป็นเบาหวาน [ค่าดังกล่าวจะมีการตรวจยืนยันผลด้วยการวัดมากกว่า 1 ครั้ง หรือใช้การวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร 8 ชม.(FBS) ร่วมด้วย เพื่อยืนยันผลการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เสมอ]
การจัดการ
- พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมแต่ละบุคคลต่อไป
- และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหาร ประเภทให้พลังงาน เช่น คาร์โบไฮเดรต [ข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน น้ำตาล แอลกอฮอล์], อาหารไขมัน [กะทิ นม เนย ไขมันสัตว์ ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่] เป็นต้น
- และ ลดน้ำหนักด้วยวิธีที่เหมาะสม เพิ่มการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น การออกกำลังกาย การเดินเร็ว ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล
2. ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นเบาหวานแล้ว
2.1 HbA1c ค่าช่วง มากกว่า 7 mg% คือ ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่าปกติ อาจนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้
- อาจเกิดจากไม่ได้ควบคุมหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย กิจกรรมต่างๆให้มากเพียงพออย่างต่อเนื่อง
- อาจเกิดจากการไม่รับประทานยาให้ถูกต้องเหมาะสมตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง
- อาจเกิดจากไม่ได้ไปพบแพทย์ตามนัด เช่น ทุก 3 เดือนหรือ 6 เดือน เพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาได้เหมาะสม
การจัดการ
- ค้นหาสาเหตุและแก้ไขจากปัญหาที่อธิบายดังกล่าวข้างต้น
- ปรึกษาแพทย์ต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสม และตรวจร่างกายเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน เช่น ตา, ไต, หัวใจ, ระบบประสาท
- รับการติดตามค่า HbA1c อย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี หรือตามดุลพินิจของแพทย์
ข้อควรทราบ
- หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และสามารถอ่านข้อมูลเรื่องโรคเบาหวานเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซด์ yaandyou นี้ที่ หัวข้อ “รอบรู้เรื่องโรค เบาหวาน”
- การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานนั้น อาจจะตรวจเฉพาะระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FBS) เท่านั้นก็ได้ขึ้นกับดุลพินิจจากแพทย์
- การตรวจ Hb A1c ไม่สามารถทดแทนการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FBS) หรือการตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเอง (SMBG)ที่ตรวจทุกๆวันได้ เพื่อการปรับระดับยาอินซูลิน หรือเพื่อพิจารณาระดับน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงขณะนั้นๆได้แต่อย่างใด
- หากท่านมีภาวะต่างๆเหล่านี้ ควรแจ้งแพทย์ คือ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โรคตับ ผู้ที่มีความผิดปกติของค่าเลือด เช่น โรคโลหิตจางประเภทต่างๆ [iron deficient, vitamin B12 deficient] หรือผู้ที่เสียเลือดมากเนื่องจากอาจทำให้ผลการตรวจ HbA1c ผิดพลาดจากความเป็นจริงได้
เอกสารอ้างอิง
- HbA1c. Medlineplus. Last updated: June 28, 2011. [cited in 19 January 2012]. Available from http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003640.htm.
- HbA1c. Lab Tests Online®. American Association for Clinical Chemistry (AACC). Last modified: July 6, 2011.. [cited in 19 January 2012]. Available from http://labtestsonline.org/understanding/analytes/a1c/tab/faq.
- A1C. Living With Diabetes. [cited in 19 January 2012]. Available from http://www.diabetes.org/living-with-diabetes/treatment-and-care/blood-glucose-control/a1c/.
- American Diabetes Association. Standards of medical care in diabetes--2011. Diabetes Care. 2011 Jan;34 Suppl 1:S11-61. Available from http://care.diabetesjournals.org/content/35/Supplement_1/S4.full.pdf.
เรียบเรียงโดย ภญ. สุพรรณิการ์ ประทีปจรัสแสง